เงินเดือนและการเป็นที่ยอมรับของคนในองค์กรน่าจะเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่จะทำให้พนักงานมีความสุขในการทำงาน ความจงรักภักดีต่อองค์กรและพยายามพัฒนาความสามารถตัวเองให้เติบโตเพื่อองค์กร ทำให้เงินเดือนนั้นเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ค่อนข้างมีผลต่อการทำงานของพนักงานมากเลยทีเดียว ถ้าธุรกิจของเรานั้นไม่ได้พยายามปรับเงินเดือนพนักงานในส่วนนี้ตามตลาดแล้วนั้น ก็มีโอกาสเสี่ยงมากที่จะเสียพนักงานที่มีความสามารถดีๆ หรือพนักงานที่สร้างผลกำไรให้กับองค์กรไปให้กับองค์กรอื่นที่ให้ผลตอบแทนดีกว่าไปอย่างน่าเสียดาย แต่ทว่าการขึ้นเงินเดือนให้กับพนักงานก็ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ เพราะการขึ้นเงินเดือนให้กับพนักงานในองค์กรแต่ละครั้งก็นับว่าเป็นต้นทุนที่ค่อนข้างสูงอยู่เหมือนกัน และในบางครั้งก็ต้องคิดถึงความคุ้มค่าก่อนที่จะตัดสินใจเพิ่มอีกด้วย ซึ่ง 4 ข้อนี้ก็คือปัจจัยสำคัญเพื่อประกอบการตัดสินใจในการขึ้นเงินเดือนให้กับพนักงานของเรา
ภาพรวมของบริษัทในปีนั้นๆ
หลายๆ บริษัทมักใช้ผลประกอบการในแต่ละปีมาเป็นตัวตัดสินว่าจะขึ้นเงินเดือนให้พนักงานหรือไม่ ซึ่งถ้าการปรับฐานเงินเดือนของพนักงานมีช่วงสิ้นปี ก็จะใช้การประมาณผลประกอบการที่คาดไว้ในช่วงนั้น หรือถ้าการปรับเงินเดือนของพนักงานอยู่ในช่วงต้นปีถัดไปก็จะสามารถใช้สรุปผลประกอบการมาเป็นตัวชี้วัดได้เลย โดยอัตราการเติบโตของผลกำไรนี้ก็มักถูกใช้เป็นเครื่องประเมินความมากหรือน้อยของอัตราเงินเดือนพนักงานที่เพิ่มขึ้น ซึ่งยิ่งพนักงานช่วยกันสร้างผลกำไรให้กับองค์กรได้มากเท่าไร พวกเขาก็จะยิ่งได้รับผลตอบแทนที่มากเท่านั้น ถือว่าเป็นวิธีที่จูงใจพนักงานในภาพรวมขององค์กรได้ไม่น้อยเลยทีเดียว
แต่ทั้งนี้ผลประกอบการที่เพิ่มขึ้นเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอต่อการตัดสินใจขึ้นเงินเดือนของพนักงานได้ เพราะเรายังต้องดูถึงแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นไปในอนาคตด้วยว่าเราจะมีโครงการอะไรเพิ่มเติมที่จะต้องใช้ต้นทุนสูงหรือไม่ เพื่อที่จะให้ปรับอัตราเงินเดือนของพนักงานให้เหมาะสม และทำให้องค์กรยังมีเงินหมุนเวียนอยู่ในระบบอยู่เสมอด้วย
ความทุ่มเทของพนักงาน
หากเราให้ผลตอบแทนกับพนักงานทุกคนเท่าๆ กันแล้ว คงจะไม่ยุติธรรมสำหรับพนักงานที่มีความสามารถและมีส่วนในการทำผลกำไรให้กับบริษัทได้มากกว่า ดังนั้นการประเมินความสามารถของพนักงานจึงถือเป็นเรื่องที่สมควรทำเป็นอย่างยิ่งเพื่อให้พนักงานที่มีความทุ่มเทให้กับองค์กรนั้นมีกำลังใจที่จะทำดีต่อไปในอนาคตและลดโอกาสในการย้ายงานด้วย
เพื่อให้การประเมินพนักงานเป็นไปได้ง่ายขึ้นนั้น เราอาจจะดูถึงภาพรวมของแผนกหรือทีมนั้นๆ ก่อนว่าทีมใดที่มีประสิทธิภาพมากก็ควรได้รับผลตอบแทนที่มากกว่า จากนั้นค่อยดูถึงรายละเอียดของพนักงานแต่ละคนว่าเป็นอย่างไร ซึ่งวิธีการประเมินนั้นก็สามารถทำได้ง่ายๆ โดยการกำหนดเป้าหมายและจุดประสงค์ของพนักงานแต่ละตำแหน่งให้เรียบร้อยในแต่ละปี โดยหัวข้อที่จะประเมินนั้นก็ขึ้นอยู่กับ ความสามารถในด้านนั้นๆ ของพนักงาน สิ่งที่ต้องเรียนรู้เพิ่มเติม การใช้ภาษาอังกฤษ เวลาเข้า-ออกงาน หรือหัวข้ออื่นๆ ที่เราเห็นว่าเหมาะสมที่จะใช้วัดความสามารถและความทุ่มเทที่พนักงานในตำแหน่งนั้นๆ มีให้กับองค์กร
จากนั้นค่อยนำข้อมูลที่ได้มาประเมินอีกทีว่าในแต่ละหัวข้อนั้นพนักงานของเราทำได้ ต่ำกว่ามาตรฐาน ถึงเกณฑ์พอดี หรือสูงกว่ามาตรฐาน เพื่อที่จะได้เห็นภาพที่ชัดเจนว่าพนักงานคนไหนที่มีประสิทธิภาพในการทำงานสูงกว่าและสมควรได้รับผลตอบแทนที่มากกว่าในปีนั้นๆ อย่างเช่นถ้าองค์กรมีผลกำไรเพิ่มขึ้น 12% แล้วก็อาจจะปรับเงินเดือนพนักงานให้ขึ้น 0%, 3%, 6% และ 9% ตามลำดับความทุ่มเทของพนักงานที่เราประเมินได้
อัตราเงินเดือนของบริษัทคู่แข่ง
การมองปัจจัยการขึ้นเงินเดือนจากองค์กรของเราเองเพียงอย่างเดียวอาจไม่พอ เพราะพนักงานฝีมือดีของเราทั้งหลายก็มีโอกาสที่จะเปลี่ยนใจไปทำงานให้กับบริษัทคู่แข่งได้ถ้าหากพวกเขาได้รับผลตอบแทนที่สูงกว่ามากๆ และจำไว้เลยว่าคงมีพนักงานน้อยคนที่จะไม่เปรียบเทียบเงินเดือนตัวเองกับบริษัทอื่น ดังนั้นการหมั่นดูเงินเดือนของบริษัทอื่นๆ ในสายเดียวกันว่าพวกเขาให้เงินเดือนพนักงานกันเท่าไร และพวกเขาใช้การประเมินพนักงานตัวเองอย่างไร เพื่อนำมาปรับเงินเดือนให้เหมาะสมกับพนักงานของเรา แต่ทั้งนี้ก็ต้องดูเรื่องสภาพแวดล้อมของงานในแต่ละที่ด้วย ซึ่งถ้าบริษัทคู่แข่งมีการใช้งานพนักงานเต็มที่หรือเกินเวลาแต่ให้ผลตอบแทนมากกว่าของเราที่ให้พนักงานทำตามเวลาปกติแล้วก็ไม่จำเป็นต้องปรับเงินเดือนให้มากกว่าก็ได้ แต่ก็ควรอยู่ในอัตราเฉลี่ยของตลาดโดยรวมเอาไว้
เศรษฐกิจของประเทศ
แม้ว่าปัจจัยในข้อแรกจะให้เราคำนึงถึงผลประกอบการของแต่ละปี แต่ในบางปีนั้นผลประกอบการขององค์กรเราอาจไม่ได้ขึ้นอยู่กับพนักงานเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เพราะหากในปีนั้นเศรษฐกิจมีภาพรวมที่ไม่ดีแล้ว ถึงแม้พนักงานของเราจะพยายามเป็นอย่างมากก็ไม่อาจทำให้เกิดผลกำไรมากไปกว่านี้ได้ ซึ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้เราก็คงยังต้องเพิ่มเงินเดือนให้กับพนักงานไว้บ้าง เพราะถ้าเศรษฐกิจไม่ดีแล้วแน่นอนว่าค่าใช้จ่ายต่างๆ ก็ต้องสูงขึ้นตามอย่างเลี่ยงไม่ได้ ถ้าเราให้เงินไม่พอกับชีวิตการเป็นอยู่ของพนักงานของเราแล้วก็คงเป็นเรื่องยากที่พวกเขาจะตัดสินใจทำงานกับเราต่อไป ดังนั้นการปรับเงินเดือนให้เนื่องจากค่าครองชีพที่สูงขึ้นนั้นจึงเป็นอีกปัจจัยที่จำเป็นอย่างมากเลยทีเดียว ซึ่งถ้าหากบริษัทคิดว่าบริษัทมีเงินไม่พอสำหรับการขึ้นเงินเดือนในครั้งนี้ก็อาจใช้วิธีแยกเป็นค่าชดเชยไปก่อนในช่วงระยะเวลานั้นๆ ก็ได้เช่นกัน
สรุป
ทั้ง 4 หัวข้อนี้ถือเป็นปัจจัยที่สำคัญมากที่จะช่วยประกอบการตัดสินใจของเราในการขึ้นเงินเดือนให้กับพนักงาน ซึ่งถือเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้พนักงานของเรานั้นมีกำลังใจในการทำงาน และสามารถทำงานในองค์กรของเราต่อไปได้อย่างมีความสุข และเพื่อให้พนักงานของเรามีความสุขอย่างครบถ้วนนั้นก็ต้องดูแลในด้านอื่นๆ นอกจากเงินเดือนด้วย อย่างเช่น เรื่องของบรรยากาศในที่ทำงาน กิจกรรมต่างๆ ที่จะทำให้พนักงานทุกคนนั้นรักองค์กร และพร้อมร่วมมือกันพาองค์กรของเราเดินไปข้างหน้าได้ต่อไปในอนาคต