4 วิธีรับมือกับธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก FTA ไทย-จีน

สิ่งหนึ่งที่อยู่คู่สังคมมนุษย์มาตลอดก็คือการค้าขายแลกเปลี่ยน หากพูดกันตามความเป็นจริงแล้ว การค้าขายมีวิวัฒนาการควบคู่กับมนุษย์มาโดยตลอด ตั้งแต่ในอดีตแรกเริ่มที่ยังไม่มีการผลิตเงินขึ้นมาใช้กันก็แลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างกันโดยตรง จะแตกต่างก็ตรงปริมาณและความพึงพอใจในการตกลงกันของทั้ง 2 ฝ่ายเท่านั้น

ต่อมาเมื่อมีการผลิตเงินขึ้นมาเป็นตัวกลางในการชำระแลกเปลี่ยนสินค้า ความก้าวหน้าของการค้าขายก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นระบบธุรกิจ และยังคงพัฒนาต่อไปจากเดิมที่ค้าขายแต่ในประเทศ ก็เริ่มให้ความสนใจและทำการค้าขายกับต่างประเทศซึ่งเรียกว่าการทำธุรกิจข้ามชาติ การทำธุรกิจค้าขายระหว่างประเทศแต่เดิมก็มีอุปสรรคต่างๆ มากมายอยู่แล้ว ทั้งในเรื่องของวัฒนธรรมและภาษาที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

อีกปัญหาที่มักพบอยู่ตลอดคือการกีดกันทางการค้า ไม่ให้สินค้าของประเทศหนึ่งเข้ามาขายในประเทศตนเอง โดยอาจใช้วิธีเรียกเก็บภาษีในอัตราที่สูงเกินจริง หรือบางครั้งอาจติดในเรื่องข้อกฎหมายหรือข้อกำหนดและข้อบังคับทางการค้าที่แต่ละประเทศมีไม่เหมือนกัน สิ่งต่างๆ ที่กล่าวมาล้วนเป็นอุปสรรคในการทำการค้าทั้งสิ้น โดยเฉพาะในศตวรรษที่ 21 ที่กระแสการแข่งขันในโลกธุรกิจขับเคี่ยวกันอย่างรุนแรง การเกิดอุปสรรคดังที่ได้กล่าวมานั้นจึงถือเป็นเรื่องน่าเสียดายอย่างมากในการทำธุรกิจ จึงได้มีผู้ริเริ่มนำเสนอแนวคิดการทำเขตการค้าเสรีขึ้นหรือที่เรารู้จักกันในชื่อที่คุ้นเคยว่า FTA (Free Trade Area)

วิธีการทำอาชีพอิสระ

ทั้ง 2 ประเทศจะพูดคุยตกลงกันเพื่อลดอุปสรรคทางการค้าระหว่างทั้ง 2 ประเทศให้เหลือน้อยที่สุด ก่อเกิดเป็นการค้าเสรีขึ้นนั่นเอง ความจริงแล้วเรื่อง FTA ไม่ใช่เป็นเรื่องใหม่ของสังคมไทย เพราะประเทศไทยได้ทำการลงนามและจัดทำ FTA มาแล้วหลายฉบับกับหลายประเทศ โดย FTA ฉบับแรกที่ไทยได้ลงนามไปเกิดขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช 2535 เป็นการตั้งเขตการค้าเสรีไทยอาเซียนหรือที่เรียกว่า AFTA (อาฟต้า) โดยเป้าหมายหลักในการจัดทำ FTA แต่ละครั้งก็เพื่อลดปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นในการค้าที่มีต่อกัน ซึ่งวิธีใช้บ่อยที่สุดก็คือการลดภาษีระหว่างกันให้เหลือศูนย์เปอร์เซ็นต์หรือก็คือไม่มีการจัดเก็บภาษีเลย เมื่ออ่านดูคร่าวๆ ก็เหมือนจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย เพราะเราทราบกันดีว่าประเทศเรามักจะถูกกีดกันทางการค้า โดยเฉพาะจากประเทศในแถบอเมริกาและยุโรปที่มักตั้งเงื่อนไขต่างๆ กับสินค้าส่งออกของเราอยู่เสมอ

แต่เราควรมองสองด้าน การลดภาษีเหลือศูนย์เปอร์เซ็นต์ในการทำ FTA นั้น จะมีผลกับทั้งสองฝ่าย กล่าวคือสินค้าที่ส่งมาจากประเทศคู่สัญญากับประเทศไทย เราก็ไม่สามารถเรียกเก็บภาษีหรือใช้มาตรการทางกำแพงภาษีเพื่อกันการทะลักของสินค้าเข้ามาในประเทศเราได้ด้วย ซึ่ง FTA ที่กำลังเป็นปัญหาและถูกกล่าวถึงมากที่สุดในขณะนี้คือ FTA ที่เราได้ทำไว้กับประเทศจีน อย่างที่ทราบกันดีว่าประเทศจีนขณะนี้ถือเป็นยักษ์ใหญ่ในวงการธุรกิจโลกติด 1 ใน 5 และล่าสุดก็ก้าวขึ้นเป็นผู้ส่งออกสินค้าอันดับ 1 แทนที่เยอรมันแชมป์เก่าเรียบร้อยแล้ว และยังมีศักยภาพเพียงพอที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้นำเศรษฐกิจอันดับ 1 ของโลกเหนือสหรัฐอเมริกาแชมป์ตลอดกาลได้ไม่ยากนัก เพราะเมื่อเทียบกับช่วงเศรษฐกิจปีที่ผ่านมาที่ทุกประเทศต่างเจอวิกฤติและติดลบกันทั่วหน้า จีนกลับสามารถประคองสถานการณ์ของตนเอาไว้ได้และยังนำพาอัตราการเจริญทางเศรษฐกิจมุ่งหน้าเข้าสู่แดนบวกอีกครั้ง ซึ่งสามารถยืนยันได้จากยอดขายรถในประเทศจีนที่มากที่สุดในโลกในปี 52 ที่ผ่านมา

ที่เป็นเช่นนี้ได้เพราะจีนมีการสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่งโดยเฉพาะอุตสาหกรรมหนัก เพราะมีทรัพยากรจำนวนมาก ค่าแรงถูก ต้นทุนการผลิตจึงต่ำตามไปด้วย ซึ่งเมื่อนำมาพิจารณาดูแล้วธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก FTA ไทย-จีน มีอยู่ด้วยกัน 4 ประเภท ซึ่งเรามีวิธีการปรับตัวเพิ่มเติมอีกด้วย

ผัก ผลไม้ และสินค้าทางการเกษตร

หลังจาก FTA มีผลบังคับใช้ ผักและผลไม้เป็นสินค้าที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะประเทศจีนมีต้นทุนสินค้าทางการเกษตรต่ำมากๆ อีกทั้งยังมีพื้นที่เพาะปลูกเป็นจำนวนมากส่งผลให้ผลิตผลทางการเกษตรล้นตลาด ทำให้ผักผลไม้ที่ราคาถูกอยู่แล้วยิ่งถูกลงไปอีก และล้นทะลักเข้าสู่ประเทศไทยเพราะอัตราภาษีศูนย์เปอร์เซ็นต์

ยกตัวอย่างเช่น กระเทียมที่ประเทศจีนมีต้นทุน 2.50 บาท ขณะที่เกษตรกรผู้ปลูกกระเทียมในไทยกลับใช้ต้นทุนในการเพาะปลูกถึง 5 บาท

วิธีรับมือและแก้ไข : เกษตรกรของไทยต้องศึกษาว่าฤดูการผลิตในจีนคือช่วงเวลาใด เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ผลผลิตของเราออกไปชนกับสินค้าทางการเกษตรของจีน เพราะสินค้าทางการเกษตรของจีนซึ่งมีเป็นจำนวนมากจะฉุดให้ราคาสินค้าการเกษตรของเราตกต่ำลงไปด้วย ทางที่ดีควรทำการรวมตัวกันยื่นข้อเสนอให้กับหน่วยงานที่รับผิดชอบหาทางควบคุมการนำเข้า

เครื่องใช้ไฟฟ้า

เครื่องใช้ไฟฟ้าจากประเทศจีนมีราคาถูกกว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าของไทยมาก เป็นเพราะใช้ต้นทุนในการผลิตต่ำ วัสดุอุปกรณ์ที่นำมาใช้ผลิตก็ไม่ได้มาตรฐาน แต่ในขณะเดียวกันกับมีคุณสมบัติใกล้เคียงกับผลิตภัณฑ์ยี่ห้อดัง อีกทั้งบางครั้งยังมีลูกเล่นที่มากกว่า เช่น ดีวีดีเครื่องหนึ่งสามารถเล่นแผ่นได้ทุกแบบ เป็นต้น

วิธีรับมือและแก้ไข : เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าเครื่องใช้ฟ้าจากประเทศจีนมักไม่ค่อยได้มาตรฐาน ควรมีการผลักดันให้ออกระเบียบว่าด้วยเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยของสินค้าอุตสาหกรรมประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้า น่าจะเป็นวิธีการสกัดกั้นได้อีกวิธีหนึ่ง อีกทั้งยังช่วยคัดกรองคุณภาพและความปลอดภัยให้กับผู้บริโภคอีกขั้นด้วย

เสื้อผ้าสำเร็จรูป

เพราะค่าจ้างแรงงานในประเทศจีนถูกมาก ต้นทุนการผลิตจึงต่ำติดดิน อีกทั้งการเลือกเนื้อผ้าที่ไม่มีความคงทนคุณภาพต่ำมาตัดเย็บ การออกแบบก็ค่อนข้างจะธรรมดา แต่ที่สำคัญคือระบบสายการผลิตที่ใหญ่มาก จึงทำให้ราคาขายต่ำตามไปด้วย

วิธีรับมือและแก้ไข : นำจุดเด่นของสินค้่าที่เรามีอยู่มาเป็นจุดขาย เช่น การออกแบบที่สวยงาม คุณภาพของเนื้อผ้าที่ดีกว่า หรือรณรงค์ให้คนไทยช่วยกันใช้ของที่คนไทยเป็นผู้ผลิตน่าจะเป็นทางออกที่ดีอีกทางหนึ่ง

พลาสติกและเคมีภัณฑ์

อย่างที่เคยกล่าวไปแล้วก่อนหน้านี้ว่า ประเทศจีนมีพื้นฐานทางด้านการผลิตอุตสาหกรรมหนักมาก่อน ทำให้จีนมีความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีเรื่องนี้เป็นพิเศษ จึงสามารถประสบการณ์มาสร้างผลิตภัณฑ์แบบใหม่ๆ ในต้นทุนต่ำได้

วิธีรับมือและแก้ไข : เนื่องจากธุรกิจนี้เป็นธุรกิจขนาดใหญ่ จึงควรวางแผนดำเนินธุรกิจอย่างรัดกุมมากที่สุด พยายามเรียนรู้และออกแบบสร้างสรรค์งานที่มีคุณภาพในราคาต้นทุนที่ต่ำที่สุด

เราจะเห็นได้ว่าการเตรียมตัวเพื่อรับมือกับสถานการณ์มีความจำเป็นอย่างสูง เพื่อเตรียมตัวรับผลกระทบของ FTA ที่จะเริ่มในอนาคตอันใกล้นี้ เพราะเมื่อสถานการณ์เกิดขึ้นจริงก็จะสามารถแก้ไขสิ่งต่างๆ ได้อย่างถูกต้องชัดเจน หรือบางครั้งเราอาจอาจพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสก็เป็นได้