อุดจุดอ่อน-เสริมจุดแข็งเข็นโลจิสติกส์ไทยรับ AEC

“โลจิสติกส์” ถือเป็นภาคบริการแรกของไทยที่จะก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ด้วยการเปิดให้ต่างชาติเข้ามาแข่งขันและเพิ่มสัดส่วนการลงทุนจาก 50% เป็น 70% ตั้งแต่ปี2556 เป็นต้นไป แต่ยิ่งเดินใกล้เข้าสู่AECมากเท่าไหร่ ภาพความไม่พร้อมของโลจิสติกส์ไทยก็ยิ่งชัดเจนมากขึ้นเท่านั้น เพราะหากพิจารณาลึกลงไป จะเห็นว่าไทยยังมีต้นทุนการขนส่งสูงและมีความน่าสนใจน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆในภูมิภาคอาเซียน

วิธีการทำอาชีพอิสระ

ปัญหาสำคัญที่เห็นได้ชัดเจน คือ โครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งทั้งหมดที่ไม่เอื้อประโยชน์ต่อภาคบริการโลจิสติกส์แม้แต่น้อย จากปัจจุบันที่ไทยใช้การขนส่งทางรถเป็นหลักสูงถึง 86% ซึ่งเป็นระบบขนส่งที่มีต้นทุนสูงจากน้ำมันเชื้อเพลิง และสร้างมลภาวะมากที่สุด ขณะที่สหรัฐอเมริกาญี่ปุ่น แคนาดา ใช้การขนส่งทางรถไม่ถึง 50%

ขณะที่เมื่อเทียบกับระบบรถไฟที่มีต้นทุนต่ำมาก ไทยกลับไม่มีความพร้อมด้านการขนส่งทางรถไฟเลย เพราะปัจจุบันไทยมีเส้นทางรถไฟเพียง 4,000 กม. และประสบปัญหากับหัวรถจักรเก่าและระบบรางคุณภาพต่ำ ตรงข้ามกับทางรถที่มีเส้นทางกว่า 2 แสน กม. แต่กลับเป็นเส้นทางที่มีต้นทุนค่าขนส่งสูงเกินไป ส่วนเส้นทางต้นทุนต่ำอย่างทางน้ำ ไทยก็ยังมีจุดอ่อนเรื่องการเชื่อมโยงไปถึงปลายทางในแต่ละประเทศที่ทำได้ลำบาก เช่นเดียวกับเส้นทางทางอากาศก็พบปัญหาคาร์โกมีไม่เพียงพอ

ชัชชาติ สุทธิพันธุ์ รมช.คมนาคม กล่าวว่า รัฐบาลได้เล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าว จึงเป็นที่มาของเมกะโปรเจกต์ด้านการลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับเปิดเสรีบริการโลจิสติกส์ (Logistic Backbone) มูลค่า 2 ล้านล้านบาท เพื่อยกเครื่องเส้นทางการขนส่งใหม่ทั้งหมด ทั้งระบบรถไฟรางคู่ รถไฟความเร็วสูง สนามบินสุวรรณภูมิ เฟส 2 แอร์พอร์ตลิงค์ รถไฟฟ้าใต้ดิน ซึ่งจะให้ความสำคัญเรื่องรถไฟเป็นหลัก ใช้งบประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นในปี 2555 กว่า 9,000 ล้านบาท และจะเพิ่มอีก 3 แสนล้านบาท ในปี 2557 สิ่งสำคัญที่จะทำให้โลจิสติกส์ไทยแข่งขันได้ในยุคที่ก้าวสู่AEC คือ การมองจากมุมของผู้ใช้บริการว่าต้องการอะไร แล้วจึงนำเสนอบริการนั้น ซึ่งจะทำให้บริการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการใช้จุดแข็งที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด อย่างไรก็ตาม การพัฒนาโลจิสติกส์ถือเป็นวาระแห่งชาติ ที่ต้องทาเป็นภาพใหญ่และทาไปพร้อมกัน จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแต่ละส่วน โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจของประเทศทั้งหมด

วิทยา ปิ่นทอง ผู้เชี่ยวชาญด้านแบบจาลองเศรษฐกิจ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือ สศช. กล่าวว่า การปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องให้เอื้ออำนวยถือเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยยกระดับการพัฒนาโลจิสติกส์ไทยให้พร้อมแข่งขันเมื่อAECมาถึงรวมทั้งสร้างการเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านทั้งระดับลุ่มแม่น้ำโขง ระดับภูมิภาคอาเซียน และระดับเอเชียแปซิฟิก ที่สำคัญรัฐไม่ควรมองข้ามเรื่องการพัฒนาบุคลากรซึ่งเป็นหัวใจหลัก เนื่องจากขณะนี้บุคลากรของประเทศไทยถือว่ามีความพร้อมน้อยที่สุดหากเทียบกับ 9 ประเทศที่เหลือ โดยเฉพาะด้านภาษา

ดังนั้น ดัชนีวัดความพร้อมก้าวเข้าสู่AECของไทย หาใช่โครงสร้างพื้นฐานระดับเมกะโปรเจกต์เพียงอย่างเดียว เพราะแม้โครงข่ายพื้นฐานจะอลังการแค่ไหน แต่หากคนในประเทศไร้ความพร้อม ช่องโหว่ที่เป็นจุดอ่อนก็ไม่มีทางถูกเปลี่ยนให้เป็นจุดแข็งได้อยู่ดี

ที่มา : โพสต์ทูเดย์