ขั้นตอนในการขอ อย. ต้องทำอย่างไรบ้าง

เมื่อผู้ผลิตตัดสินใจที่จะผลิตอาหารที่อยู่ในข่ายต้องขออนุญาตจาก อย. สิ่งแรกที่ต้องทำคือ ต้องศึกษาและปรึกษาผู้รู้ให้ทราบถึงวิธีการ หลักฐาน และเงื่อนไขที่เกี่ยวกับสถานที่ผลิต ผู้เกี่ยวข้องกับการผลิต และการขอเลข อย. จากนั้นจึงวางแผนการดำเนินงานก่อนหลังให้เหมาะสมดังนี้

วิธีการทำอาชีพอิสระ

1. เตรียมสถานที่ผลิตให้สะอาด ถูกสุขลักษณะ และตรงตามเงื่อนไขที่จะอนุญาตได้ ในกรณีที่เป็นโรงงาน ให้ยื่นคำขอเพื่อรับใบอนุญาตผลิตก่อนยื่นขอรับเลข อย.
2. ส่งตัวอย่างตรวจวิเคราะห์
3. กรอกรายละเอียดในคำขอให้ถูกต้องสมบูรณ์
4. เตรียมเอกสารที่ใช้เป็นหลักฐานประกอบการพิจารณาให้ถูกต้องครบถ้วน
5. จัดทำรูปแบบฉลากที่จะใช้จริง โดยมีรายละเอียดตามข้อกำหนดในประกาศกระทรวงสาธารณสุขเฉพาะเรื่องประกาศฯว่าด้วยเรื่องฉลาก ทั้งนี้ยังไม่ต้องพิมพ์ฉลากจริงออกมา
6. ยื่นคำขอ รายงานผลตรวจวิเคราะห์ ฉลาก และเอกสารอื่นที่ใช้ประกอบการพิจารณา ที่กองควบคุมอาหาร อย. สำหรับสถานที่ผลิตใน กทม. ถ้าเป็นต่างจังหวัดให้ยื่นที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในจังหวัดที่สถานที่ผลิตนั้นตั้งอยู่
7. ติดตามผลการพิจารณาอย่างใกล้ชิด
8. ให้รีบดำเนินการแก้ไข หรือส่งเอกสารเพิ่มเติม หากได้รับแจ้งให้ดำเนินการ

ใครไม่รู้บอกไว้ “วางแผนดีมีชัยกว่าครึ่ง” สำหรับงานนี้ ต้องเรียกว่า “วางแผนดีไม่มีช้า” แต่มีข้อแม้อยู่หนึ่งข้อ คือ กรณีผู้ผลิตไม่ได้ไปเดินเรื่องด้วยตนเอง แต่มอบหมายตัวแทนไปดำเนินการ ควรคัดเลือกคนที่มีความรู้ความเข้าใจอย่างดีเกี่ยวกับสถานที่ผลิตและรายละเอียดของการผลิตเท่าที่จะมากได้ จะได้ตอบข้อซักถามของเจ้าหน้าที่ได้อย่างชัดเจน ไม่ต้องเทียวไปเทียวมา ถามกันหลายรอบกว่าจะถึงบางอ้อ

คำถามที่ตามมาก็คือ ที่ไม่ช้านั้น ต้องใช้เวลากี่วันถึงเสร็จตอบได้ว่า ถ้าเป็นกรณียื่นคำขอตั้งโรงงานเพื่อรับใบอนุญาตผลิตไม่เกิน 45 วันทำการ (จันทร์ถึงศุกร์) ขึ้นทะเบียนตำรับอาหารและขออนุญาตใช้ฉลาก ไม่เกิน 30 วันทำการ แต่ถ้าเพียงจดแจ้งรายละเอียดของอาหาร ก็ใช้เวลาไม่เกิน 7 วันเท่านั้น

ทีนี้มาถึงค่าใช้จ่ายที่ผู้ผลิตต้องจ่ายให้กับทางราชการ ในการขอเลข อย. อาหาร ตามระเบียบ จะแบ่งเป็น 3 รายการด้วยกันคือ

1.ค่าใบอนุญาตผลิตอาหาร (3,000-10,000 บาท)
2.ค่าใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับอาหาร (ฉบับละ 5,000 บาท) และ
3.ค่าตรวจวิเคราะห์อาหารเพื่อขึ้นทะเบียนตำรับอาหาร หรือขออนุญาตใช้ฉลากอาหาร (400-3,000 บาท) แต่ทั้งนี้มักเป็นผู้ผลิตในรูปของโรงงานเป็นส่วนใหญ่

สำหรับผู้ผลิตระดับชุมชนที่เรากำลังพูดถึงอยู่นี้ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในข้อ 1. และข้อ 2. นอกจากนี้ ถ้าผลิตอาหารชนิดที่ขอเครื่องหมาย อย. โดยไม่ต้องส่งวิเคราะห์ เช่น น้ำจิ้มต่างๆ เต้าเจี้ยว น้ำพริกเผาขนมต่างๆ เป็นต้น เหล่านี้ล้วนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในข้อ 3.อีกด้วย
สรุปอีกอย่างก็คือ ชุมชนผู้ผลิตไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ในการขอเลข อย. อาหาร ยกเว้นผลิตอาหารชนิดที่ต้องส่งวิเคราะห์อย่างเช่น ซีอิ๊ว ไข่เยี่ยวม้า เครื่องดื่ม ซอสมะเขือเทศ น้ำบริโภค น้ำแข็ง น้ำปลา น้ำพริกแกงบรรจุภาชนะ นม เป็นต้น ที่ต้องเสียค่าตรวจวิเคราะห์ตั้งแต่สี่ร้อยบาทไปถึงสามพันบาท

ถ้าต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มโทร 1556 สายด่วน อย. นะครับ