การรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ใกล้เข้ามาทุกที การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้นทำให้นักลงทุนจากหลายประเทศทั่วโลกต่างตื่นตัว มองหาโอกาสในด้านการค้าและการลงทุนใหม่ ๆ ในภูมิภาคอาเซียนซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพ ด้วยประชากรที่มีกว่า 600 ล้านคนหรือคิดเป็น 10 % ของประชากรโลก และเนื่องจากโอกาสเป็นของคนที่เตรียมพร้อม การวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และปัจจัยคุกคามจึงเป็นตัวช่วยสำคัญสำหรับนักลงทุนในการศึกษาวิเคราะห์ตลาดเพื่อเสาะแสวงหาโอกาสที่กำลังจะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้
ตลาดใหญ่แห่งอาเซียน
ประเทศใหญ่ไม่ใกล้ไม่ไกลบ้านเราอย่างอินโดนีเซียเป็นอีกประเทศที่ดึงดูดใจนักลงทุนทั้งหลาย อินโดนีเซียมีจุดแข็งหลายอย่างเป็นสิ่งล่อตาล่อใจ ไม่ว่าจะเป็นขนาดของเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน อีกทั้งมีการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วและมีเสถียรภาพจนเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจโตเร็วอันดับต้น ๆ ของโลก โดยอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 6 % ต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี ที่น่าสนใจคือ ปัจจัยที่สนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจอินโดนีเซียนั้นมาจากการบริโภคภายในประเทศ (Private Consumption) อันแสดงถึงอุปสงค์ต่อสินค้าและบริการภายในประเทศจำนวนมหาศาล ด้วยประชากรที่มีมากกว่า 248 ล้านคน ซึ่งเป็นจำนวนเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรอาเซียน และยังคงมีการเติบโตของประชากรอย่างต่อเนื่อง อุปสงค์ภายในประเทศจึงมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นอีก ผู้บริโภคในตลาดส่วนใหญ่เป็นคนชั้นกลางที่มีกำลังซื้อมากขึ้นเรื่อย ๆ อินโดนีเซียจึงเป็นตลาดที่ใหญ่และมีศักยภาพในการบริโภคสูงจนมองข้ามไปไม่ได้เลยทีเดียว นอกจากจะเป็นตลาดใหญ่แล้ว ความสมบูรณ์ของปัจจัยการผลิตในอินโดนีเซียก็ไม่น้อยหน้าประเทศอื่นๆ อินโดนีเซียมีทรัพยากรแรงงานค่อนข้างมาก แรงงานส่วนใหญ่อยู่ในวัยหนุ่มสาว ประชากรอินโดนีเซียกว่า 62 % เป็นบุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 35 ปี อีกทั้งอัตราค่าแรงในอินโดนีเซียนั้นต่ำกว่าหลายประเทศในภูมิภาคเดียวกัน ประกอบกับทรัพยากรธรรมชาติในประเทศที่มีความอุดมสมบูรณ์โดยเฉพาะแร่ธาตุและน้ำมัน รวมถึงทำเลที่ตั้งที่เป็นทางผ่านของการขนส่งสินค้าไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก อาจกล่าวได้ว่าทั้งอุปสงค์และอุปทานในอินโดนีเซียนั้นมีความสมบูรณ์พอสมควรเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน แม้สภาพเศรษฐกิจของอินโดนีเซียจะเป็นที่น่าดึงดูดใจจากนักลงทุนเพียงใด แต่สภาพภูมิประเทศที่เป็นเกาะมากกว่า 17,000 เกาะ และระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่สมบูรณ์นัก ทำให้ต้นทุนการขนส่งสินค้าภายในประเทศอินโดนีเซียค่อนข้างสูง ยิ่งไปกว่านั้นการที่อินโดนีเซียยังประสบปัญหาภัยพิบัติบ่อยครั้ง กฎระเบียบภายในประเทศไม่มีความชัดเจน มีปัญหาความไม่โปร่งใสทางการเมือง และกระบวนการในการลงทุนในประเทศที่ยุ่งยากซับซ้อนนับเป็นจุดอ่อนของอินโดนีเซียที่ทำให้นักลงทุนยังลังเลที่จะเข้ามาลงทุน
ความสำคัญของประเทศอินโดนีเซีย
ประเทศอินโดนีเซียเป็นคู่ค้าอันดับ2 ของไทยในอาเซียนและอันดับ 5 ของไทยในโลก มีมูลค่าการค้าทวิภาคีในปีที่ผ่านมาเท่ากับ 598,933.95 ล้านบาท แบ่งเป็นการส่งออก 346,267.03 ล้านบาท มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.93 การนำเข้า 252,666.92 ล้านบาท มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.13 ประเทศไทยได้เปรียบดุลการค้า 93,600.11 ล้านบาท การรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ที่รวมทั้ง 10 ประเทศสมาชิกให้เป็นตลาดเดียว มีการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการอย่างเสรีจะนำมาซึ่งการขยายตลาดทางการค้าของประเทศไทย ถือเป็นโอกาสครั้งสำคัญของประเทศไทยในการเข้าไปลงทุนในอินโดนีเซียได้สะดวกยิ่งขึ้น
aec อินโด แหล่งรวมอุตสาหกรรมนานาชนิด
หลาย ๆ อุตสาหกรรมในประเทศอินโดนีเซียนั้นเปิดกว้างและมีความน่าสนใจสำหรับนักลงทุนไทย อาทิ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ น้ำมัน ก๊าซ ถ่านหิน ดีบุก เป็นต้น อุตสาหกรรมพลังงาน ซึ่งอินโดนีเซียต้องการการลงทุนจากต่างประเทศอีกมาก เนื่องจากยังขาดแคลนเงินทุนที่จะพัฒนาแหล่งพลังงานในประเทศของตนได้อย่างเต็มที่ อุตสาหกรรมการเกษตร โดยเฉพาะปาล์มน้ำมันซึ่งอินโดนีเซียเป็นผู้ผลิตและส่งออกอันดับต้น ๆ ของโลก อุตสาหกรรมการก่อสร้างก็กำลังเติบโต เพราะรัฐบาลอินโดนีเซียกำลังเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศเพื่อรองรับการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน นอกจากนี้ยังมี อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมอาหารแปรรูป ที่มีโอกาสเติบโตได้อีกมาก นอกจากการเข้าไปลงทุนในประเทศอินโดนีเซียแล้ว บางอุตสาหกรรมในประเทศไทยยังมีโอกาสที่จะขยายตลาดไปที่ประเทศอินโดนีเซียได้ อาทิ อุตสาหกรรมอาหาร โดยเฉพาะธุรกิจอาหารฮาลาลที่มีโอกาสขยายฐานการตลาดอีกมาก เนื่องจากอินโดนีเซียที่เป็นประเทศมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีชาวมุสลิมมากกว่า 220 ล้านคน ธุรกิจอาหารฮาลาลในโลกกำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง นี่จึงเป็นโอกาสหนึ่งสำหรับนักลงทุนชาวไทยในการพัฒนาตลาดอาหารฮาลาลในต่างประเทศ แม้ว่าปัจจุบันประเทศไทยส่งออกอาหารฮาลาลค่อนข้างน้อย แต่ด้วยปัจจัยสนับสนุนที่ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการผลิตอาหารที่มีคุณภาพ อีกทั้งมีความได้เปรียบทางด้านวัตถุดิบทางการเกษตร การพัฒนาธุรกิจอาหารฮาลาลจึงไม่ใช่เรื่องที่เกินความสามารถของคนไทยแน่นอน อีกอุตสาหกรรมที่มีโอกาสในอินโดนีเซียคือ อุตสาหกรรมเครื่องประดับ ชาวมุสลิมในอินโดนีเซียจะใช้อัญมณีและเครื่องประดับในการตกแต่งเสื้อผ้าที่สวมใส่ให้ดูสวยโดดเด่น อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับเป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมที่มีความสำคัญกับการส่งออกของไทย อีกทั้งประเทศไทยเป็นประเทศที่มีฝีมือแรงงานในด้านการทำเครื่องประดับที่โดดเด่นในภูมิภาคอาเซียน อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับจึงเป็นอุตสาหกรรมที่ไม่ควรมองข้าม
ความเสี่ยงจากภัยคุกคาม
อินโดนีเซียภายใต้การรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนนั้นไม่ได้ก่อให้เกิดเพียงโอกาสอย่างเดียว ภายใต้โอกาสที่เกิดขึ้นนั้นมีความเสี่ยงจากปัจจัยคุกคามเช่นกัน แม้ว่าประเทศไทยจะมีโอกาสเข้าไปลงทุนในอินโดนีเซียมากกว่าเดิม แต่จะต้องพบกับการแข่งขันที่สูงขึ้น โดยเฉพาะสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศ เช่น จีน เวียดนาม อินเดีย เป็นต้น นอกจากนั้นประเทศไทยและอินโดนีเซียยังมีความแตกต่างด้านวัฒนธรรมการทำงานพอสมควรซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของการดำเนินธุรกิจ
การรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนนำมาซึ่งโอกาสมากมาย ประเด็นที่กล่าวไปข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของโอกาสที่กำลังจะเกิดขึ้นเท่านั้น ใครเตรียมพร้อมได้ก่อนคนอื่นย่อมได้ประโยชน์มากกว่า อยู่ที่วิสัยทัศน์ของนักลงทุนว่าจะมองเห็นโอกาสเหล่านั้นหรือไม่ อย่าลืมว่า“โอกาส” มีอยู่เสมอ สำหรับคนที่มองเห็น