เนื่องจากการเปิดเสรีทางการค้าในประเทศไทย ทำให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนทำธุรกิจในประเทศมากขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการร้านค้าปลีก ทั้งรายเล็กและรายใหญ่ ต่างต้องปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงของสังคม เพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ และต่อไปนี้คือกลยุทธ์เพื่อสร้างความอยู่รอดให้กับร้านค้าปลีกของไทย
กลยุทธ์ด้านการเงิน
– ต้นทุนการดำเนินงาน ผู้ประกอบการต้องรู้จักการบริหารการผลิตเพื่อช่วยลดต้นทุนการเก็บสินค้าคงคลังที่ไม่จำเป็นไว้ในสต็อกนานเกินไป
– รายได้เสริม นอกจากการขายสินค้าภายในร้านแล้ว ในช่วงเวลาว่าง ผู้ประกอบการอาจผลิตสินค้าอื่น ๆ ออกมาจำหน่าย หรือแบ่งพื้นที่หน้าร้านให้เช่าเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับร้านค้าในอีกทางหนึ่ง
– เน้นสินค้าที่มีกำไร ผู้ประกอบการควรเน้นสินค้าที่คนส่วนใหญ่นิยมซื้อ หรือสินค้าที่ให้กำไรสูงมากเป็นพิเศษกว่าสินค้าประเภทอื่น เช่น เครื่องดื่ม เพราะเป็นสินค้าที่ดื่มกันทุกเพศ ทุกวัย เป็นต้น
– ไม่แข่งขันด้านราคา ผู้ประกอบการควรเน้นสร้างความแตกต่าง ให้สินค้ามีความแปลกใหม่ มีดีไซน์เก๋ไม่เหมือนใคร มากกว่าจะแข่งขันกันด้านราคา
– ไม่ขยายตัวด้วยเงินกู้ การทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จนั้นไม่ยากเลย ถ้ากิจการไม่มีหนี้สิน ดังนั้น ผู้ประกอบการร้านค้าปลีกไม่ควรรีบร้อนขยายกิจการถ้าผู้ประกอบการยังไม่มีเงินลงทุนเพียงพอ และไม่ควรกู้เงินเพื่อนำมาขยายกิจการ
กลยุทธ์การตลาด
– Marketing Back to Basics เป็นพื้นฐานทางการตลาด เพื่อศึกษาถึงความต้องการและพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมาย ข้อมูลเหล่านั้นจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถจัดหาผลิตภัณฑ์ที่ลูกค้าต้องการได้อย่างเหมาะสม
– การปรับ layout เป็นการจัดรูปแบบร้านใหม่ โดยให้ลูกค้ามีส่วนร่วมในการเลือกซื้อเลือกหยิบสินค้าด้วยตนเอง หรือที่เรียกว่าการบริการด้วยตัวเอง (Self Service)
– ถ้ามีคู่แข่งต่างชาติ ให้เลือกทำเลรอง 2 nd-class location ผู้ประกอบการควรเลือกทำเลในพื้นที่ชั้น 2 หรือทำเลรอง เพราะพื้นที่ชั้น 1 หรือทำเลหลักจะมีคู่แข่งขันเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะคู่แข่งต่างชาติ ดังนั้น ผู้ประกอบการควรเลือกทำเลรองลงไป แต่ยังมีศักยภาพพอสมควร
– Originality คือ ความพิเศษของตัวสินค้าที่มีเฉพาะร้านเท่านั้น
– กุมหัวใจลูกค้าเดิม เป็นการรักษาความสัมพันธ์กับลูกค้าเดิมไว้ เพราะการรักษาลูกค้าเดิมจะง่ายและใช้ต้นทุนน้อยกว่าการแสวงหาลูกค้าใหม่
กลยุทธ์การบริหาร
– ขายนอกร้าน เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ช่วยให้ผู้ประกอบการมีช่องทางการจัดจำหน่ายเพิ่มมากขึ้น และนั่นหมายถึง รายได้ที่เพิ่มขึ้นด้วย เช่น ร้าน S&P ไม่ได้ขายของหวานเฉพาะในร้านเท่านั้น แต่ขนมของ S&P ยังถูกวางจำหน่ายตามร้านจิฟฟี่ในปั๊มน้ำมัน JET และห้างสรรพสินค้าต่างๆ อีกด้วย
– Non – Store เป็นการขายตรงแบบไม่มีร้านค้า เพื่อกระจายช่องทางการจำหน่ายสินค้าไปสู่ผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็ว และตรงกับกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น เช่น ศิริวัฒน์แซนด์วิช เป็นต้น
– Franchising ถ้าหากกิจการยังไม่ประสบความสำเร็จ กิจการนั้นคงไม่เหมาะสมที่จะทำแฟรนไชส์ เพราะแฟรนไชส์เป็นกลยุทธ์สำหรับธุรกิจที่มีความสำเร็จ แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์และกำลังคนในการขยายงาน
– หาพันธมิตร เป็นการร่วมมือกันระหว่างธุรกิจที่ดำเนินกิจการในรูปแบบเดียวกัน การสร้างพันธมิตรจะทำให้ธุรกิจมีโอกาสประสบความสำเร็จ มากกว่าการดำเนินงานแต่เพียงลำพัง
สรุป
วิธีการข้างต้นเป็นกลยุทธ์ที่ผู้ประกอบการสามารถนำไปพัฒนารูปแบบการบริหารร้านค้าปลีกได้ โดยผู้ประกอบการไม่ต้องอาศัยการลงทุนเพิ่ม นอกจากนี้ ผู้ประกอบการร้านค้าปลีกจำเป็นต้องติดตามความเคลื่อนไหวทางธุรกิจและเศรษฐกิจ รวมทั้งแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งผู้ประกอบการต้องมีความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอีกด้วย