เปรียบเทียบเวียดนามและไทย ด้านการศึกษา ภาษา และการลงทุน ใน AEC

หลังสิ้นสุดความวุ่นวายทางการเมืองที่ทอดยาวมาเป็นเวลานานนั้นเสียได้ นับถอยกลับไปหลังจากที่อเมริกาถอนทหารจากเวียดนามใต้อย่างเป็นทางการ ในปี พ.ศ.2516 กองกำลังเวียดนามเหนือและเวียดกงยึดไซ่ง่อนและเวียดนามใต้ได้ทั้งหมด ในปี พ.ศ.2518 เวียดนามเหนือ-ใต้ รวมเป็นหนึ่งเดียวกันได้ เมื่อ 2 กรกฎาคม พ.ศ.2519 กลายเป็น สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ระยะ 36 ปีกว่า นับแต่นั้นเป็นต้นมา เวียดนามกำลังกลายเป็นพญามังกรที่กางปีกเต็มที่ และพร้อมแล้วกับการบินทุกรูปแบบ ทั้งสูง ผาดโผน และนุ่มนวล โดยเฉพาะเมื่อมีโอกาสบินในสมรภูมิรบที่คุ้นเคย ซึ่งบัดนี้ได้เปลี่ยนเป็นสมรภูมิการค้าเสรีใหญ่โตด้วยแล้ว ยิ่งทำให้เวียดนามขยับตัวเข้าใกล้เป้าหมายเบอร์ 1 ของอาเซียนได้ไม่ยากนัก ความโดดเด่นข้อนี้ดูเหมือนหลายประเทศจะวิเคราะห์ตรงกันว่า อนาคตเวียดนามอาจก้าวเข้ามาเป็นแกนกลางอาเซียนได้เร็วขึ้น หากมีความพร้อมและฉลาดที่จะเร่งสร้างโอกาสที่ดีทางการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ และที่สำคัญคือสามารถทำตลาดการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมได้ตามที่ตั้งเป้าไว้

วิธีการทำอาชีพอิสระ

โอกาสและความท้าทายของการขยายตัวทางการตลาดของเวียดนาม จาก 89 ล้านคน ถือเป็น ประเทศที่มีประชากรมากที่สุด เป็นอันดับ 13 ของโลก ออกไปเป็น 600 ล้าน และจะเพิ่มมากขึ้นเมื่อรวมมูลค่าทางการตลาดของจีนและอินเดียซึ่งจะตกอยู่ที่กว่า 3,600 ล้านคน ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ไม่เพียงแต่เวียดนามจะได้ประโยชน์มหาศาลเท่านั้น ขณะเดียวกันก็จะทำให้การเติบโตและความรุ่งเรืองของเอเชียถีบตัวเป็นแม่เหล็กสำคัญในการลงทุนของโลกในอนาคต ท่ามกลางความตกต่ำทางเศรษฐกิจของอเมริกาเหนือและกลุ่มอียู

นักลงทุนต่างเห็นตรงกันว่า การลงทุนในตลาดเดียวย่อมจะเป็นผลดี เมื่อดูจากดัชนีด้านต้นทุนรวมถึงข้อดี อย่างเช่น ความชัดเจนของการเป็นประชาคมที่มีอัตลักษณ์เฉพาะที่เน้นความเอื้ออาทร การแบ่งปัน การยอมรับในเอกภาพภายใต้ความแตกต่างทางภาษา ศาสนาและวัฒนธรรมของอาเซียนเอง

อย่างไรก็ตาม หากมองไปที่ผลสำรวจระดับความตื่นตัวของรัฐสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ เวียดนามถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดีผลสำรวจแต่ละครั้งอยู่ในลำดับต้นตลอด คือติดอยู่ 1 ใน 3 จาก 10 ประเทศ ขณะนี้ต้องยอมรับว่าคนหนุ่มสาวส่วนใหญ่ในเวียดนามทั้ง 58 จังหวัด และอีก 5 เทศบาลนคร โดยเฉพาะในนครฮานอยและนครโฮจิมินห์ มีทัศนคติค่อนข้างดีและมีการปรับตัวทางการศึกษาอย่างคึกคัก เหตุผลสำคัญคือกลุ่มคนหนุ่มสาวสมัยใหม่ในเวียดนามค่อนข้างมั่นใจว่าการศึกษาและทักษะการใช้ภาษาอังกฤษได้ดี เป็นตัวแปรสำคัญที่มีผลต่อชีวิตและสถานะของครอบครัว อีกทั้งจะเป็นประตูสู่ความสำเร็จที่จะนำตัวเองไปสู่โอกาสทางสังคมและฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นด้วย

การศึกษาไทยเองก็ต้องให้ความสำคัญจุดนี้ให้มากด้วยเช่นกัน เพราะหากเทียบทักษะคนหนุ่มสาวไทย-เวียดนามที่อยู่ในช่วงระดับเดียวกันแล้ว คนไทยหาได้เปรียบอยู่มากไม่ เมื่อพิจารณาจากการใช้ภาษาอังกฤษเป็นเกณฑ์ในการวัด ราชอาณาจักรไทยเองในฐานะประเทศร่วมก่อตั้งอาเซียน ต้องลงทุนเรื่องมหาวิทยาลัยภาษาและวัฒนธรรมให้มาก งบประมาณต้องตั้งไว้อย่างเพียงพอเพื่อผลิตบุคลากรด้านนี้ให้ทันใช้งานในเวทีแข่งขันข้างหน้าที่การเปลี่ยนแปลงจะมีอยู่สูง

ความสามารถในการใช้ภาษา โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ ที่ถูกกำหนดให้เป็นภาษากลางของอาเซียน เป็นเรื่องที่คนไทยในฐานะพลเมืองอาเซียนไม่สามารถหลีกเลี่ยง ดังนั้น การไม่สามารถสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษในระดับที่ใช้งานได้ ย่อมหมายความว่าความสามารถที่มีในการแข่งขันหดหายไปด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย ที่สำคัญการอุดมศึกษาไทยต้องมีกระบวนการปรับเปลี่ยนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เทคโนโลยี อย่างมียุทธศาสตร์ด้วย ตัวอย่างนโยบายการศึกษาประชาคมอาเซียน ที่ประชาชนจับต้องได้และรัฐบาลน่าจะทำให้เป็นจริงเป็นจัง อย่างเช่น นโยบายภายใต้ความรับผิดชอบของ รมช.ศึกษาธิการ (นายศักดา คงเพชร) ที่ตั้งใจขับเคลื่อนมาตรฐานการศึกษาตามโครงการส่งเสริมให้ครูไทยไปฝึกอบรมภาษาอังกฤษและภาษาอาเซียน เพื่อทำให้บุคลากรครูมีความตื่นตัว เกิดการแลกเปลี่ยนหมุนเวียนนักเรียนและครูในอาเซียน ที่สำคัญคือนโยบายนี้จะทำให้เกิดการยอมรับในคุณสมบัติร่วมกันทางการศึกษาของภูมิภาคสู่การมีความพร้อมในการเปิดเสรีการศึกษา ตลอดจนการแสวงหาแนวทางใหม่ๆ ในการยกระดับมาตรฐานการพัฒนาทรัพยากรบุคคลของอาเซียนให้สูงขึ้น

ย้อนกลับมาวิเคราะห์การที่เวียดนามเข้าเป็นสมาชิกอาเซียน นอกจากจะทำให้เวียดนามได้รับความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจรอบด้านจากอาเซียนแล้ว ยังทำให้มีโอกาสเรียนรู้ประสบการณ์ในการพัฒนาประเทศ ส่งผลให้เศรษฐกิจการตลาดของเวียดนามโตวันโตคืน

ขณะนี้เวียดนามเองต้องการมีบทบาทต่อระบบเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และมูลค่าทางการตลาดทั้งโลกด้วย ที่สำคัญคือส่วนแบ่งในตลาดเกิดใหม่อย่าง เขตการค่าเสรี อาเซียน ที่จะส่งผลไปถึงตลาดในกลุ่ม APEC และ WTO อีกด้วย แน่นอน ประโยชน์ด้านการค้าและการลงทุนเวียดนามกับอาเซียนและตลาดอื่นๆไม่น้อยกว่าร้อยละ 30-40 จะเกิดขึ้น พร้อมๆ กับการได้รับสิทธิพิเศษทางการค้า อย่างเช่น GSP อย่างน้อย 10 ปี ที่จะกลายเป็นแต้มต่อที่สำคัญให้เวียดนามด้วย นับตั้งแต่เวียดนามประกาศใช้กฎหมายว่าด้วยการลงทุนต่างชาติ ประเทศสมาชิกอาเซียนสนใจลงทุนในเวียดนามสูงขึ้นทันที เพราะเวียดนามเองก็ถือเป็นตลาดใหญ่กว่า 89 ล้านคน สมบูรณ์พร้อมด้วยทรัพยากรธรรมชาติ มีแรงงานที่มีค่าแรงถูก ศักยภาพของเวียดนามส่งผลให้ปัจจุบันมีสมาชิกอาเซียนอย่างสิงคโปร์เข้าไปลงทุนมากเป็นอันดับ 1 มูลค่า 5.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ มาเลเซีย และไทยลงทุนเป็นอันดับ 2 และ 3 ตามลำดับ โดยกลุ่มธุรกิจที่เวียดนามเปิดให้มีการลงทุนและพัฒนา ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิต การก่อสร้างที่อยู่อาศัย การผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคและการแปรรูปอาหาร

ที่มา : ไทยโพสต์