ประตูการค้าทางทะเลสู่อาเซียน

การค้าทั่วโลกพึ่งพาการขนส่งทางทะเลเป็นหลักราว 90% ของปริมาณขนส่งสินค้าระหว่างประเทศทั้งหมด ส่งผลให้ท่าเรือมีความสำคัญในฐานะประตูเปิดรับการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ ดังนั้น ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าที่ประเทศในภูมิภาคอาเซียนจะรวมตัวกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) ซึ่งจะกระตุ้นให้การค้าการลงทุนทั้งภายในอาเซียนและระหว่างอาเซียนกับภูมิภาคอื่น ๆ ทั่วโลกขยายตัวสูงขึ้น ความพร้อมและศักยภาพของท่าเรือในอาเซียนจึงเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งของความสำเร็จของ AEC ท่าเรือสำคัญในอาเซียน นอกเหนือจากท่าเรือแหลมฉบังของไทย ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีอยู่แล้ว

วิธีการทำอาชีพอิสระ

เริ่มจากท่าเรือของสิงคโปร์ ซึ่งแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ท่าเรือ PSA (Port of Singapore Authority) ให้บริการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์เป็นหลัก มีศักยภาพ (Capacity) รองรับตู้คอนเทนเนอร์มากถึง 24.7 ล้าน TEU ต่อปี มีจำนวนท่าเทียบเรือ 44 ท่า และท่าเรือจูร่ง (Jurong Port) เป็นท่าเรืออเนกประสงค์ ให้บริการขนส่งทั้งตู้คอนเทนเนอร์ สินค้าเทกอง และสินค้าอื่น ๆ รองรับการขนส่งสินค้า 13.5 ล้านตันต่อปี และปริมาณตู้คอนเทนเนอร์ 7.2 แสน TEU ต่อปี มีจำนวนท่าเทียบเรือ 30 ท่า ปัจจุบันท่าเรือสิงคโปร์เป็นท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน

ในปี 2553 ท่าเรือสิงคโปร์มีปริมาณขนส่งสินค้าและตู้คอนเทนเนอร์มากเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากท่าเรือเซี่ยงไฮ้ของจีน ท่าเรือสำคัญของมาเลเซีย ได้แก่ ท่าเรือคลัง (Port Klang) และท่าเรือตันจุงเปเลปัส (Port of Tanjung Pelepas) โดยท่าเรือคลังตั้งอยู่ในรัฐเซลังงอร์ ห่างจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ 38 กิโลเมตร รองรับการขนส่งสินค้าได้ 10.5 ล้านตันต่อปี และปริมาณตู้คอนเทนเนอร์ 8 ล้าน TEU ต่อปี มีจำนวนท่าเทียบเรือ 53 ท่า สามารถรองรับการขนส่งได้ทั้งตู้คอนเทนเนอร์ สินค้าเทกอง น้ำมัน และสินค้าอื่นๆ

ขณะที่ ท่าเรือตันจุงเปเลปัสเพิ่งเปิดให้บริการเมื่อปี 2543 ตามนโยบายของ ดร.มหาธีร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซียในขณะนั้น ที่ต้องการให้มาเลเซียเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางทะเลในอาเซียน ทั้งนี้ ท่าเรือตันจุงเปเลปัสตั้งอยู่ในรัฐยะโฮร์ ทางตอนใต้ของมาเลเซีย ใกล้กับท่าเรือสิงคโปร์ ปัจจุบันรองรับปริมาณตู้คอนเทนเนอร์ 9 ล้าน TEU ต่อปี มีจำนวนท่าเทียบเรือ 12 ท่า โดยปริมาณขนส่งสินค้าและตู้คอนเทนเนอร์รวมกันของทั้งสองท่าเรือมากเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน

ท่าเรือสำคัญของอินโดนีเซีย ได้แก่ ท่าเรือจาการ์ตา (Port of Jakarta) หรือในภาษาท้องถิ่นเรียกว่า Tanjung Priok Port ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของกรุงจาการ์ตาบนเกาะชวา รองรับการขนส่งสินค้า 45 ล้านตันต่อปี และปริมาณตู้คอนเทนเนอร์ 4 ล้าน TEU ต่อปี มีจำนวนท่าเทียบเรือ 76 ท่า มีเรือขนส่งเข้าเทียบท่าปีละไม่ต่ำกว่า 18,000 ลา ส่วนท่าเรือสำคัญของเวียดนาม ได้แก่ ท่าเรือไซ่ง่อน (Saigon Port) ตั้งอยู่บริเวณปากแม่น้ำไซ่ง่อน ชานเมืองโฮจิมินห์ รองรับการขนส่งสินค้า 35 ล้านตันต่อปี และปริมาณตู้คอนเทนเนอร์ 1.5 ล้าน TEU ต่อปี

นอกจากนี้ เวียดนามเพิ่งเปิดให้บริการท่าเรือก๋ายแม็บ (Cai Mep Port) ใน ปี 2552 รองรับเส้นทางการขนส่งสินค้าจากเวียดนามไปฝั่งตะวันตกของสหรัฐ โดยไม่ต้องหยุดพักระหว่างทาง

ท่าเรือสำคัญของฟิลิปปินส์ ได้แก่ ท่าเรือมะนิลา (Port of Manila) ตั้งอยู่ในอ่าวมะนิลา ใกล้กับกรุงมะนิลา รองรับการขนส่งสินค้า 45 ล้านตันต่อปี และปริมาณตู้คอนเทนเนอร์ 3 ล้าน TEU ต่อปี โดยกว่าร้อยละ 40 เป็นการขนส่งสินค้าภายในประเทศ เนื่องจากภูมิประเทศส่วนใหญ่ของฟิลิปปินส์เป็นเกาะ

หลังการเปิด AEC คาดว่าหลายประเทศจะพัฒนาศักยภาพท่าเรือให้สามารถรองรับปริมาณสินค้าได้มากขึ้น รวมถึงอาจมีการก่อสร้างท่าเรือแห่งใหม่ ทั้งในพม่า เวียดนาม อินโดนีเซีย รวมถึงไทย เพื่อเพิ่มโอกาสการค้าการลงทุน และเชื่อมโยงการขนส่งของอาเซียนเข้ากับเส้นทางการค้าโลกมากขึ้น ซึ่งคงต้องติดตามกันต่อไป

ที่มา :  ขวัญใจ เตชเสนสกุล ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยธุรกิจ ธสน.