ข้อตกลงการค้าบริการขององค์การการค้าโลก ได้ระบุให้มีการเปิดเสรีการเคลื่อนย้ายแรงงาน โดยถือเป็น 1 ใน 4 รูปแบบของการค้าบริการด้วย แต่ปรากฏว่าการเปิดเสรีดังกล่าวในแต่ละประเทศกลับจำกัดคำว่า “แรงงาน” อยู่ในวงแคบๆ โดยการเปิดเสรีเฉพาะแรงงานระดับสูงในภาคบริการเท่านั้น เช่น นักบริหาร ผู้จัดการ หรือนักวิชาชีพเฉพาะสาขา เช่น วิศวกร นักกฎหมาย แพทย์ ฯลฯ ซึ่งแรงงานเหล่านี้เป็นทรัพยากรที่ประเทศด้อยพัฒนาขาดแคลนอยู่แล้ว และมีไม่เพียงพอแม้แต่จะใช้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศตนเอง การเปิดเสรีแรงงานในภาคดังกล่าวจึงไม่เป็นประโยชน์ต่อประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนามากนัก ในทางตรงกันข้าม สิ่งที่ประเทศกำลังพัฒนามีอย่างเหลือล้นและพร้อมที่จะส่งออก ก็คือ แรงงานระดับล่างไม่ว่าจะเป็น กรรมกร แม่บ้าน คนงานก่อสร้าง ซึ่งเป็นกลุ่มแรงงานที่ประเทศพัฒนาแล้วมีความต้องการเช่นกัน
ในความเป็นจริง ประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลายต่างต้องการผลักดันให้มีการเปิดเสรีภาคบริการในรูปแบบการจัดตั้งธุรกิจเพื่อให้บริการ (Commercial Presence) ซึ่งเป็นการจัดตั้งธุรกิจในต่างประเทศ โดยพยายามเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ยกเลิกกฎเกณฑ์ที่จำกัดการเข้าไปตั้งสาขาของบริษัทต่างชาติในประเทศของตน เช่น การเรียกร้องให้ประเทศไทยยกเลิกกฎหมายที่กำหนดห้ามมิให้ต่างชาติเข้ามาถือหุ้นในกิจการของประเทศไทยเกินกว่า 49% หรือกฎหมายห้ามมิให้ต่างชาติถือครองที่ดินแต่มีสิทธิเช่าได้ เป็นต้น แต่สำหรับประเทศกำลังพัฒนานั้น รูปแบบการเปิดเสรีที่แต่ละประเทศต้องการมากที่สุด ก็คือ รูปแบบการให้บริการด้านแรงงานโดยบุคคลธรรมดา เป็นการเข้าไปทำงานประกอบอาชีพในสาขาบริการด้านต่างๆ เป็นการชั่วคราวในประเทศผู้รับบริการ โดยการอนุญาตให้คนงานจากต่างประเทศเดินทางเข้าไปทำงานได้อย่างสะดวก
นอกจากนี้ ยังมีความพยายามที่จะผลักดันให้รวมแรงงานนอกภาคบริการเข้าไว้ด้วย เช่น แรงงานภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรมก่อสร้าง ตัดเย็บเสื้อผ้า แต่ปรากฏว่าประเทศพัฒนาแล้วกลับต่อต้านอย่างเต็มที่ ด้วยเกรงว่าแรงงานระดับล่างจากประเทศด้อยพัฒนาจะไหลทะลักเข้าประเทศ จนทำลายระบบสวัสดิการ เศรษฐกิจและสังคมภายในประเทศไป ด้วยเหตุนี้ การค้าบริการในรูปแบบการเคลื่อนย้ายแรงงานไปยังประเทศอื่นนั้น จึงมีมูลค่าเพียง 1.4% ของการค้าบริการระหว่างประเทศทุกรูปแบบเท่านั้น ในขณะที่รูปแบบการตั้งกิจการในต่างประเทศ กลับมีมูลค่าถึง 56.3% ของมูลค่าการค้าบริการทั้งหมด
การเคลื่อนย้ายแรงงานในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนนั้น มีการนำร่องเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเสรีใน 7 สาขาวิชาชีพ คือ วิศวกร พยาบาล สถาปนิก นักสำรวจ แพทย์ ทันตแพทย์ และนักบัญชี
ประเด็นของการเปิดเสรีด้านการเคลื่อนย้ายแรงงานเป็นประเด็นที่น่าจับตามอง เปิดเสรีดังกล่าวอาจทำให้แรงงานฝีมือในอาเซียนย้ายจากประเทศที่มีค่าตอบแทนต่ำ (ประเทศในแถบอินโดจีน ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย รวมถึงไทย) ไปยังประเทศที่มีค่าแรงสูงกว่าและมีการใช้ภาษาอังกฤษอย่างแพร่หลาย อาทิเช่น สิงคโปร์และมาเลเซีย ซึ่งมีความน่าเป็นห่วงว่าการเปิดเสรีแรงงานฝีมือดังกล่าว จะทำให้แรงงานฝีมือของไทยในบางสาขาย้ายไปทำงานในมาเลเซียและสิงคโปร์ โดยเฉพาะสาขาการแพทย์และวิศวกร มีผลให้ในอนาคตไทยอาจขาดแคลนแรงงานฝีมือในสาขาดังกล่าว ขณะเดียวกัน ต้องเร่งพัฒนาฝีมือแรงงานในวิชาชีพต่างๆ ของไทยให้ได้มาตรฐานสากล ต้องเร่งพัฒนาทักษะเพื่อรับมือกับการแข่งขัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านภาษา ซึ่งบุคลากรไทยยังเสียเปรียบคู่แข่งอยู่ รวมทั้งปรับตัวให้เข้ากับมาตรฐานการทำงานสากล
การค้าเสรีได้ส่งผลกระทบในเชิงบวกต่อการขยายตัวของภาคการผลิตและภาคแรงงาน ซึ่งจะนำไปสู่ความต้องการแรงงานไร้ฝีมือและกึ่งฝีมือมากขึ้นในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมยาง สิ่งทอ อัญมณีและเครื่องประดับ ซึ่งจะส่งผลให้อัตราค่าจ้างสูงขึ้น นอกจากนี้ มาตรฐานแรงงาน หรือคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงานในกระบวนการผลิตต่างๆ จะสูงขึ้น ความก้าวหน้าในอาชีพสำหรับแรงงานที่มีฝีมือและกลุ่มผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านจะอยู่ในระดับที่สูงขึ้น การเปิดเสรีทางการค้าจะช่วยส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการทำงานให้ดีขึ้น ตลอดจนสวัสดิการของผู้ใช้แรงงานในธุรกิจขนาดกลางและขนาดใหญ่ดีขึ้น
สัดส่วนของแรงงานอาเซียนในไทยหรือแรงงานไทยในอาเซียนจะขยายตัวในลักษณะใดขึ้นอยู่ลักษณะการเติบโตทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศสมาชิกของประชาคมโดยเฉพาะสัดส่วนของการลงทุนของไทยในอาเซียน และอาเซียนในไทย
โอกาสและความเสี่ยงของธุรกิจอุตสาหกรรมในมุมของนายจ้างมีหลากหลายลักษณะ เริ่มต้นตั้งแต่โอกาสที่มากขึ้นของนายจ้างในการเลือกจ้างแรงงานที่มีคุณภาพมากขึ้น อำนาจในการต่อรองของแรงงานย่อมลดลงโดยเฉพาะในสาขาวิชาชีพที่มีการเปิดเสรี ตลาดแรงงานเปิดกว้างมากขึ้น การแข่งขันสูงขึ้นเป็นภาวะกดดันให้แรงงานต้องพัฒนาตัวเองให้มีคุณภาพดีขึ้น สามารถย้ายฐานการผลิตไปใช้แรงงานที่สอดคล้องกับการผลิตมากกว่า และเมื่อไปลงทุนในอาเซียนสามารถนำนักวิชาชีพไปทำงานได้สะดวกขึ้น แต่ความเสี่ยงที่สำคัญ คือ อาจสูญเสียแรงงานคุณภาพให้กับประเทศอาเซียนที่จ่ายค่าตอบแทนสูงกว่า
อีกเรื่องที่ต้องเอาใจใส่ คือ ต้องศึกษามาตรฐานฝีมือแรงงานในประเทศที่ไปลงทุนด้วย ในระยะยาวและระยะปานกลาง เมื่อมีการเคลื่อนย้ายเสรีแรงงานอย่างเต็มที่ อัตราค่าจ้างจะปรับใกล้เคียงกันมากขึ้น การย้ายฐานการผลิตเพื่อใช้ประโยชน์จากแรงงานราคาถูกจะค่อยๆ ลดลง แต่ในทางปฏิบัติ การเปิดเสรีด้านแรงงานจะไม่เกิดอย่างเต็มที่เพราะองค์กรวิชาชีพหรือองค์กรแรงงานในบางประเทศอาจลุกขึ้นมาปกป้องตลาดแรงงานภายในด้วยการออกมาตรการต่างๆ เพื่อกีดกันแรงงานต่างชาติที่จะเข้ามาทำงานแข่ง เช่น การออกมาตรฐานวิชาชีพสำหรับแรงงานต่างชาติ เป็นต้น
องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labor Organization : ILO) ได้ประเมินไว้ว่า ปัจจุบันมีแรงงานต่างด้าวในทุกประเทศทั่วโลกประมาณ 86 ล้านคน ยอดเงินที่แรงงานต่างด้าวส่งเงินกลับไปยังครอบครัวของตนในประเทศกำลังพัฒนานั้น คิดเป็นเงินประมาณ 160,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี ซึ่งมากกว่าเงินช่วยเหลือเพื่อการพัฒนา (Development Aid) ที่ประเทศกำลังพัฒนาได้รับถึง 3 เท่า แต่แม้จะมีจำนวนมหาศาลเพียงใด เม็ดเงินรายได้ของแรงงานต่างด้าวส่งกลับบ้านนั้นเป็นเพียง 13% ของรายได้ที่แรงงานกลุ่มดังกล่าวได้รับเท่านั้น หมายความว่า รายได้ที่เหลืออีก 87% ของแรงงานต่างด้าวจะยังคงอยู่ในประเทศเจ้าบ้าน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1 ล้านล้านดอลลาร์ นับได้ว่าแรงงานต่างด้าวได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศเจ้าบ้านอย่างมากมาย
ที่มา : คัดมาบางส่วนจาก บทความ ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ นสพ.กรุงเทพธุรกิจ