การยกเลิกกำแพงภาษีและลดอุปสรรคทางการค้าสินค้าเกษตร ภายใต้การเปิดตลาดสินค้าเกษตร หลังการรวมกลุ่มเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) แล้ว ในภาพรวมจะก่อให้เกิดประโยชน์ในการใช้ฐานการผลิตเดียวกัน การขยายการส่งออก และโอกาสทางการค้าสินค้าเกษตรและบริการ เนื่องจากอาเซียนจัดเป็นตลาดใหญ่มีประชากรรวมกันถึง 580 ล้านคน ทั้งยังเป็นยุทธศาสตร์เศรษฐกิจที่สำคัญและได้รับความสนใจจากประเทศคู่ค้า จนมีการลงนามความตกลงเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน +1 ไปแล้ว 6 ประเทศ ได้แก่ จีน, ญี่ปุ่น, เกาหลี, อินเดีย, ออสเตรเลีย/นิวซีแลนด์
ความตกลงเปิดการค้าเสรี (FTA) เหล่านี้ส่งผลให้อาเซียนมีอำนาจต่อรองในเวทีระดับโลก ทั้งเวที องค์การการค้าโลก (WTO) หรือการรวมกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจ (APEC) และที่สำคัญการรวมกลุ่มนี้ยังได้ช่วยยกระดับความเป็นอยู่ประชาชนในประเทศสมาชิกอาเซียน จากการศึกษาระบุว่า การรวมกลุ่ม AEC จะทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสมาชิกอาเซียนเพิ่มขึ้นเป็น 8-10% ต่อปี และเพิ่มรายได้ที่แท้จริงอีก 5.3% คิดเป็นมูลค่า 69,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
แม้ว่าการเปิดตลาดภายใต้กรอบอาเซียนจะสร้างประโยชน์ให้กับภาคการส่งออก แต่ก็ไม่สามารถปฏิเสธได้เช่นกันว่า การเปิดประตูสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในครั้งนี้อาจส่งผลกระทบต่อสินค้าภายในประเทศได้เช่นเดียวกัน
ข้าว
ประเทศไทยในฐานะที่เป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งของโลก มีความคาดหวังการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ว่าจะทำให้ภาษีนำเข้าข้าวของตลาดอาเซียนลดลงเป็น 0% ซึ่งจะช่วยเปิดตลาดส่งออกข้าวไทยไปยังกลุ่มประเทศอาเซียนให้ได้มากขึ้น แต่แท้ที่จริงแล้ว การลดภาษีนำเข้าข้าวของประเทศสมาชิกอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นอินโดนีเซีย, มาเลเซีย, และฟิลิปปินส์ ต่างกำหนดให้สินค้าข้าวอยู่ในรายการสินค้าที่มีความอ่อนไหวสูง (Sensitive List) และยังคงอัตราภาษีนำเข้าอยู่ระหว่างร้อยละ 30-40 อยู่ รวมทั้งมีการใช้มาตรการที่มีใช่ภาษีในการนำเข้าข้าวด้วย
นอกจากนี้สินค้าข้าวไทยยังคงต้องเผชิญกับการแข่งขันในด้านราคากับประเทศคู่แข่งในอาเซียนด้วยกันเอง อาทิ เวียดนาม กัมพูชา และในอนาคตอาจจะเป็นเมียนมาร์ซึ่งมีต้นทุนในการผลิตข้าวต่ำกว่าประเทศไทย ส่งผลให้ส่วนแบ่งการตลาดของการส่งออกข้าวไทยในอาเซียนปรับลดลง
โดยผลศึกษาตลาดข้าวอาเซียนของศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่าการส่งออกข้าวเวียดนามกับข้าวไทยในตลาดอาเซียนระหว่างปี 2547-2551 ปรากฏข้าวไทยมีอัตราการขยายตัวลดลงเมื่อเทียบกับข้าวเวียดนาม นับตั้งแต่ปี 2548 เวียดนามส่งออกข้าวไปยังตลาดอาเซียนมีการขยายตัว 94.2% ส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 67.5% ขณะที่ไทยมีอัตราการขยายตัวเพียง 13.4% ส่วนแบ่งตลาด 31.1% เท่านั้น
และหลังจากนั้นเป็นต้นมา แม้ข้าวไทยจะมียอดการส่งออกข้าวในตลาดอาเซียนเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่สามารถแย่งส่วนแบ่งตลาดข้าวจากเวียดนามได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าวคุณภาพต่ำ เวียดนามมีราคาขายถูกกว่าข้าวไทยมาก ยกตัวอย่าง ราคาข้าวขาว 5% ของไทยสูงกว่าเวียดนามเฉลี่ย 30 เหรียญสหรัฐ/ตัน และในปี 2552 ราคาข้าวขาว 5% ของไทยสูงกว่าเวียดนามถึง 123 เหรียญสหรัฐ/ตัน สาเหตุที่ต้นทุนข้าวไทยสูงกว่าข้าวเวียดนามอาจจะมาจากนโยบายของรัฐบาล อาทิ การรับจำนำข้าวสูงกว่าราคาตลาดโลก ซึ่งจัดเป็นการอุดหนุนชาวนาโดยตรง ส่งผลให้ข้าวไทยไม่สามารถแข่งขันในตลาดอาเซียนได้
ที่สำคัญการที่ ราคาข้าวไทยสูงเกินความเป็นจริง ซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายรับจำนำของรัฐบาล อาจจะทำให้ข้าวราคาถูกจากประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ กัมพูชาทะลักเข้ามาภายในประเทศผ่านตามแนวชายแดนได้ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์เดียวกันกับกรณีของน้ำมันปาล์ม ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง เมล็ดกาแฟดิบ และน้ำตาล เป็นปัญหาต่อเนื่องมาจนทุกวันนี้
ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
สถานการณ์ของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศก็คือ มีปริมาณไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์ ส่งผลให้ต้องเปิดให้มีการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากต่างประเทศ
จากการศึกษาของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พบว่าภายหลังการเปิดเสรีในปี 2558 ที่อัตราภาษีนำเข้าข้าวโพดจะลดลงเป็นร้อยละ 0 จะมีการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากประเทศสมาชิกอาเซียนเข้า
มาภายในประเทศมากขึ้น
แม้ว่าการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในระยะแรกจะยังมีปริมาณไม่มากนัก แต่ในระยะยาวการนำเข้าข้าวโพดจะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากบริษัททางด้านปศุสัตว์ไทยได้เข้าไปส่งเสริมการลงทุนปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และพืชชนิดอื่นๆ รวม 10 รายการในลักษณะ Contract Farming ภายใต้โครงการความร่วมมือสาขาการเกษตรและอุตสาหกรรมภายใต้ ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy : ACMECS) ระหว่างกัมพูชา ลาว พม่า ไทย และเวียดนาม โดยได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าและไม่ต้องมีใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า (Certicate of Origin : C/O) เป็นโครงการนำร่องอยู่แล้ว โดยพืชทั้ง 10 รายการ ได้แก่ ถั่วเหลือง, ถั่วลิสง, ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์, ละหุ่ง, มันฝรั่ง, ข้าวโพดหวาน, มะม่วงหิมพานต์, ยูคาลิปตัส, ลูกเดือย และ ถั่วเขียว ผิวมัน ในอนาคตจะเข้ามากดราคาสินค้าเกษตรภายในประเทศ เหมือนกับที่กำลังเกิดขึ้นจากการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากกลุ่ม ACMECS อยู่ในปัจจุบันจนต้องมีการกำหนดระยะเวลาการนำเข้าในที่สุด
ถั่วเหลือง
ปัจจุบันผลผลิตถั่วเหลืองในประเทศไทยที่ยังมีไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ เมื่อประเทศสมาชิกอาเซียนต้องลดภาษีเป็น 0% ในปี 2553 ทำให้ผู้ประกอบการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มโรงงานผลิตน้ำมันถั่วเหลืองกับ โรงงานผลิตอาหารสัตว์สามารถนำเข้าเมล็ดถั่วเหลืองและกากถั่วเหลืองได้ในราคาที่ถูกลง ในระยะสั้นอาจจะยังไม่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ปลูกถั่วเหลือง เนื่องจากรัฐบาลมีระบบการนำเข้าภายใต้โควตาและบังคับให้โรงงานรับซื้อเมล็ดถั่วเหลืองในราคาประกัน
แต่ในระยะยาวอาจจะส่งผลกระทบให้จำนวนเกษตรกรผู้ปลูกถั่วเหลืองลดลง เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ เวียดนาม ลาว สามารถปลูกถั่วเหลืองในพื้นที่ทางตอนเหนือของประเทศให้ผลผลิตต่อไร่สูงกว่าผลผลิตถั่วเหลืองไทย หากประเทศเหล่านี้สามารถพัฒนาผลผลิตต่อไร่และต้นทุนการผลิตให้ต่ำกว่าประเทศไทย จะยิ่งมีเมล็ดถั่วเหลืองราคาถูกทะลักเข้าสู่ประเทศไทยมากขึ้น จนถูกกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกดราคารับซื้อเมล็ดถั่วเหลืองจากเกษตรกรในที่สุด
ปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม
ปาล์มน้ำมันถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญอย่างหนึ่งของเกษตรกรของไทย โดยเฉพาะทางภาคใต้ รวมถึง ยังส่งผลให้ประเทศไทยมีจุดแข็งในด้านความมั่นคงทางด้านอาหารประเภทน้ำมัน โดยน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ของไทยถือได้ว่ามีมาตรฐานการผลิตที่สูงเมื่อเทียบกับประเทศผู้ผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มรายใหญ่ของโลก เนื่องจากเป็นน้ำมันที่มีลักษณะใส ไม่มีตะกอน และไม่เป็นไข
สำหรับพันธกรณีการเปิดตลาดสินค้าน้ำมันปาล์มตามข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ส่งผลให้ประเทศไทยต้องปรับลดอัตราภาษีนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบและน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์เหลือเพียงร้อยละ
5% ในปี 2556 จากอัตราภาษีภายใต้ข้อผูกพันสินค้าเกษตรขององค์การการค้าโลก (WTO) ซึ่งเดิมภาษีนำเข้าในโควตากำหนดอยู่ที่ร้อยละ 20 หากเป็นภาษีนอกโควตากำหนดอัตราไว้ที่ร้อยละ 143% อย่างไรก็ตาม ในปี 2548 ได้มีการยกเลิกมาตรการโควตาภาษี แต่หันมาใช้มาตรการที่มิใช่ภาษี หรือ NTBs แทนด้วยการกำหนดให้องค์การคลังสินค้า (อคส.) ในฐานะหน่วยงานของรัฐเป็นผู้นำเข้าน้ำมันปาล์มในอัตราภาษีร้อยละ 0 ได้เพียงหน่วยงานเดียว
ส่วนการปรับลดภาษีนำเข้าน้ำมันปาล์มภายใต้ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2553 ที่ต้องปรับลดภาษีลงเหลือ 0% ประเทศไทยยังคงสงวนการนำเข้าภายใต้องค์การคลังสินค้า (อคส.) เหมือนกับการนำเข้าภายใต้ AFTA ในทางปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำมันปาล์มดิบ ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลโดย อคส.ได้มีการนำเข้าน้ำมันปาล์มจากประเทศมาเลเซียเข้ามาเป็นระยะๆ
ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรชาวสวนปาล์มอย่างชัดเจน เนื่องจากน้ำมันปาล์มดิบจากประเทศเพื่อนบ้านมีราคาถูกกว่าน้ำมันปาล์มดิบไทย อาจจะมีเหตุผลส่วนหนึ่งมาจากนโยบายของรัฐบาลที่กำหนดราคาประกันผลปาล์มทะลายให้กับเกษตรกรภายในประเทศ ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตน้ำมันปาล์มดิบของโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มดิบไทยสูงกว่าน้ำมันปาล์มดิบจากมาเลเซีย
ประกอบกับการทำสวนปาล์มในประเทศไทยเป็นระบบสวนขนาดเล็ก พันธุ์ปาล์มน้ำมันมีการพัฒนาน้อยกว่าพันธุ์ปาล์มของมาเลเซีย ต้นทุนการผลิตของประเทศไทยจึงสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้น
การปรับลดภาษีนำเข้าน้ำมันปาล์มจึงส่งผลกระทบการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มทั้งระบบ ทั้งอุตสาหกรรมต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกรผู้ปลูกปาล์ม โรงสกัดน้ำมันปาล์มดิบ โรงกลั่นน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ และผู้บริโภคในประเทศ ในแง่ที่ว่า จะต้องเผชิญกับสถานการณ์การขาดแคลนน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ มีราคาแพงเป็นระยะๆ เนื่องจากกระทรวงพาณิชย์มีนโยบายไม่ยอมให้น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ปรับขึ้นราคาตามต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นได้
นอกจากนี้โอกาสที่ประเทศไทยจะพัฒนาพันธุ์ปาล์มน้ำมันให้แข่งขันกับมาเลเซียและอินโดนีเซียคงทำได้ยากขึ้น เนื่องจากเกษตรกรของไทยเป็นเกษตรกรรายย่อย ขาดการบริหารจัดการและนโยบายที่มีประสิทธิภาพ ขณะที่ทั้งสองประเทศดังกล่าวมีการทำสวนปาล์มแปลงขนาดใหญ่ผ่านการบริหารจัดการสวนที่ดี และอุตสาหกรรมการผลิตน้ำมันปาล์มยังไม่ได้รับการปกป้องจากรัฐบาลด้วย จึงกล่าวได้ว่า
น้ำมันปาล์มของไทยเป็นสินค้าที่อยู่ในภาวะเสี่ยงเป็นอย่างยิ่ง หากมีการปรับลดภาษีเป็นร้อยละ 0 และเปิดให้มีการนำเข้าได้โดยเสรี
กาแฟ
ปัจจุบันเมล็ดกาแฟดิบจากเวียดนามและสปป.ลาวทะลักเข้าสู่ประเทศไทยเพิ่มขึ้น หลังจากกำหนดให้ประเทศสมาชิกอาเซียนต้องลดภาษีนำเข้าเมล็ดกาแฟลงเหลือร้อยละ 5% ตั้งแต่ปี 2553 และเหลือร้อยละ 0 ในปี 2558 จะยิ่งทำให้มีการนำเข้าเมล็ดกาแฟจากประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมล็ดกาแฟดิบพันธุ์อาราบิก้าที่ให้ผลผลิตและคุณภาพดีกว่ากาแฟไทยซึ่งส่วนใหญ่เป็น กาแฟพันธุ์ โรบัสต้า
เพาะปลูกในภาคใต้ของประเทศ
ประกอบกับเวียดนามมีผลผลิตเมล็ดกาแฟดิบเพิ่มมากขึ้นทุกปี ในขณะที่ประเทศไทยมีผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการในประเทศ ทั้งของโรงงานคั่วบดและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งต้นทุนการปลูกกาแฟเวียดนามต่ำกว่ากาแฟไทย ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นต้นทุนการจ้างแรงงานเก็บเกี่ยว ดูแลรักษา ปุ๋ย สารเคมีป้องกันศัตรูพืช และค่าน้ำมันเชื้อเพลิง จึงเชื่อได้ว่า หลังการเปิดเสรีในปี 2558 เมล็ดกาแฟไทยจะไม่สามารถแข่งขันกับกาแฟเวียดนามและ สปป.ลาวได้ การเตรียมตัวของภาคเอกชนไทย ขณะนี้เริ่มมีการเข้าไปลงทุนปลูกกาแฟใน สปป.ลาวเพิ่มขึ้น
มันสำปะหลัง
การเปิดเสรีทางการค้าภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) จะส่งผลทางด้านบวกกับสินค้าเกษตรอย่างมันสำปะหลังเพียงรายการเดียว เนื่องจากไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังได้มากที่สุดในอาเซียน โดยครองส่วนแบ่งตลาดมากกว่าประเทศ คู่แข่งอย่าง เวียดนามและอินโดนีเซียค่อนข้างมาก ประกอบกับไทยมีต้นทุนการผลิตมันสำปะหลังต่อไร่ต่ำกว่า
รวมไปถึงการพัฒนาเทคโนโลยีในการผลิตและการแปรรูปมันสำปะหลังในรูปแบบต่าง ๆ ให้มีความหลากหลายมากขึ้น
ไม่ว่าจะเป็นโรงงานแป้งมัน โรงงานแป้งแปรรูป และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม มูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของไทยปัจจุบันขึ้นอยู่กับการส่งออก “มันเส้น” ไปยังประเทศจีน โดยที่มันเส้นไทยจะต้องแข่งขันทางด้านราคากับมันเส้นจีน มีข้อได้เปรียบอยู่ที่เวียดนามยังไม่สามารถผลิตมันเส้นเพียงพอต่อความต้องการใช้ในตลาดจีนได้ แต่ข้อน่าเป็นห่วงในอนาคตก็คือ มันเส้นเวียดนามมีการพัฒนาในเรื่องของคุณภาพมากกว่ามันเส้นไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของ “มันเส้นสะอาด” กลายเป็นประเด็นสำคัญขึ้นมาในช่วง 1-2 ปีนี้ หลังจากที่ผู้นำเข้ามันเส้นจีนอาศัยเรื่องของความสะอาด-สิ่งเจือปน
มากดราคามันเส้นไทย
ในทางกลับกัน เมื่อรัฐบาลไทยกำหนดนโยบายรับจำนำมันสำปะหลังภายในประเทศด้วยราคาที่สูงกว่าราคามันสำปะหลังในตลาดโลก ก็มักจะเกิดปรากฏการณ์ลักลอบนำเข้ามันสำปะหลังตามแนวชายแดน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกัมพูชา เข้ามาสวมสิทธิจำนำมันสำปะหลังภายในประเทศ เป็นปัญหาต่อเนื่องมาทุกปี แม้ว่าปริมาณการนำเข้ามันสำปะหลังจากประเทศเพื่อนบ้านจะไม่มากพอที่จะส่งผลกระทบกับมันสำปะหลังไทยก็ตาม
ที่มา:หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ