ทำไมถึงต้องมี AEC

สำหรับคำถามแรกที่หลายๆ คนอาจจะยังคงตั้งคำถามว่า ทำไมจะต้องศึกษาเรื่องอาเซียน ทำไมจะต้องเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน ประชาคมอาเซียนสำคัญอย่างไร อาเซียนถือได้ว่าเป็นองค์การระหว่างประเทศที่มีความสำคัญที่สุดต่อไทยในทุกๆ ด้าน ในด้านเศรษฐกิจ ตัวเลขชัดเจน ไทยค้าขายกับประเทศอาเซียนมากที่สุด ขณะนี้อาเซียนเป็นประเทศคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทย การลงทุนกำลังเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่า ขณะนี้ต่างชาติที่มาลงทุนในไทยมากที่สุด คือ ยุโรปและญี่ปุ่น แต่ประเทศในอาเซียนก็มาลงทุนในไทยมากขึ้นเรื่อยๆประเทศไทยก็ไปลงทุนในอาเซียนมากขึ้นในด้านการเมืองความมั่นคง อาเซียนเกิดขึ้นมาได้ เนื่องจากเหตุผลทางด้านการเมืองความมั่นคง เมื่อ45 ปีมาแล้วตอนที่ไทยริเริ่มตั้งอาเซียน เหตุผลสำคัญคือ เรื่องการเมืองความมั่นคงในตอนนั้นเป็นยุคสงครามเย็น คอมมิวนิสต์ คือ ภัยคุกคามหลัก เพราะฉะนั้น เราได้ประโยชน์มากในการตั้งอาเซียนขึ้นมา คือ เรามีพวก มีพันธมิตรในการต่อสู้กับภัยคุกคามคอมมิวนิสต์

ในปี 1978 เกิดปัญหาใหญ่ในภูมิภาค คือ เวียดนามบุกยึดกัมพูชา ไทยจึงใช้อาเซียนในการสร้างแนวร่วมประสานท่าทีในการที่จะไปล็อบบี้ UN สหรัฐ และประเทศมหาอำนาจ ซึ่งในที่สุดก็ทำสำเร็จ ผลักดันให้เวียดนามถอนทหารออกจากกัมพูชาในปี 1989

วิธีการทำอาชีพอิสระ

สัจธรรมที่สำคัญในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คือ “ปลาใหญ่กินปลาเล็ก” ประเทศเล็กเสียเปรียบ ประเทศใหญ่ได้เปรียบ จะเห็นได้ว่า มหาอำนาจ คือ ประเทศใหญ่ๆ ทั้งนั้น คือ สหรัฐ จีน รัสเซีย อินเดีย ถามว่าประเทศเล็กจะอยู่รอดได้อย่างไร ในการเมืองโลก ในเศรษฐกิจโลก ประเทศเล็กจะอยู่รอดได้ คือ ต้องรวมตัวกัน ถือเป็นเหตุผลหลักว่า ทำไมยุโรปซึ่งมีแต่ประเทศเล็กๆ จึงรวมตัวกันเป็นสหภาพยุโรป และนี่ก็คือเหตุผลว่า ทำไมประเทศเล็กๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงต้องมารวมตัวกันเป็นอาเซียน เพราะว่า เมื่อ”รวมกันเราอยู่ แยกกันเราตาย” เมื่อรวมตัวกันแล้ว อำนาจการต่อรองบนเวทีระหว่างประเทศจะมีมากขึ้นสำหรับอาเซียน สำหรับไทยก็ได้ประโยชน์มาก แทนที่เราจะอยู่ตัวคนเดียว เราก็มีอาเซียนเป็นพวก เป็นแนวร่วม อำนาจการต่อรองของไทยก็เพิ่มขึ้นมาก

อีกเรื่องหนึ่งคือ การผงาดขึ้นมาของจีน (the rise of China) และการผงาดขึ้นมาของอินเดีย (the rise of India) แต่อาจจะลืมไปว่า ยังมีการผงาดขึ้นมาของอาเซียน (the rise of ASEAN) ด้วย โดยอาจจะมองข้ามตัวเราเองไป เรามองแต่มหาอำนาจใหญ่ๆ เมื่ออาเซียนรวมตัวกันจะมีประชากรประมาณ 600 ล้านคน GDP รวมกันประมาณ 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งหาก 10 ประเทศรวมตัวกันเหนียวแน่น ก็ไม่เบา เพราะฉะนั้น การผงาดขึ้นมาของอาเซียน กำลังเป็นตัวแปรสำคัญในระบบเศรษฐกิจและระบบการเมืองโลก การผงาดขึ้นมาของอาเซียนนั้น เกิดขึ้นพร้อมๆ กับการผงาดขึ้นมาของจีนและอินเดีย อาเซียนจึงมีความสำคัญมาก

ในปัจจุบัน อาเซียนนับว่ามีความสำคัญต่อไทยเป็นอย่างมาก ขณะนี้อาเซียนเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย ประมาณ 60- 70% ของ GDP ไทย มาจากการส่งออก ดังนั้น เศรษฐกิจไทยจึงเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจของอาเซียนเป็นอย่างมากหากอาเซียนเป็นประเทศ อาเซียนจะมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก โดยมี GDP รวมกันสูงถึงกว่า 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชียหรือ ADB ได้ทำการศึกษาถึงแนวโน้มเศรษฐกิจของอาเซียนในปี 2030 พบว่า ในปีดังกล่าว GDP ของอาเซียนจะขยายเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว คือจะมี GDP อยู่ประมาณ 7-8 ล้านล้านเหรียญ ซึ่งจะทำให้อาเซียนมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก ดังนั้น จากแนวโน้มดังกล่าวจะเห็นได้ว่า อาเซียนกำลังจะผงาดขึ้นมาเป็นขั้วเศรษฐกิจโลก เป็นมหาอำนาจเศรษฐกิจโลกในอนาคต ซึ่งไทยจะได้ประโยชน์อย่างมากจากการเป็นสมาชิกของอาเซียน

นอกจากนี้ อาเซียนก็กำลังเป็นสถาบันหลักในภูมิภาค เป็นเวทีพหุภาคีทางการทูตที่สำคัญที่สุดในภูมิภาค หากดูภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียแปซิฟิก จะเห็นได้ว่า องค์กรหรือสถาบันที่สำคัญที่สุดคือ อาเซียน บางคนอาจบอกว่า เอเปก แต่เอเปกไม่มีทางสู้อาเซียนได้ เนื่องจากเอเปกก่อตั้งมาเป็นเวลา20 ปี แต่ก็ไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน อาเซียนกำลังจะกลายเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมในภูมิภาค อาเซียนจะเป็นแกนหลักของสถาบัน ระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในภูมิภาค ปัจจุบันใครๆ ก็มาตีสนิทกับอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นจีน อินเดีย ยุโรป และสหรัฐ ดังนั้น อาเซียนกำลังมีความสำคัญมาก นี่คือความสำคัญของอาเซียนที่ไทยจะมองข้ามไม่ได้ การรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียน ก็ยิ่งจะทำให้อาเซียนมีความสำคัญมากขึ้นไปอีก

ประเทศไทยเป็นประเทศเล็ก ไทยจะเสียเปรียบเป็นอย่างมาก หากเราอยู่เพียงตัวคนเดียว ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ไทยจะต้องรวมกลุ่มกับประเทศอื่นๆในภูมิภาค เพื่อสร้างอำนาจการต่อรอง และนี่ก็เป็นเหตุผลสำคัญที่ไทยจะต้องให้ความสำคัญกับอาเซียน และต้องให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน

อาเซียนมีประวัติศาสตร์มายาวนานถึง 45 ปี มีทั้งยุครุ่งเรือง ยุคทอง ยุคตกต่ำ (ยุควิกฤติเศรษฐกิจ) ผ่านมาหมดแล้ว ยุควิกฤติเศรษฐกิจ วิกฤติต้มยำกุ้ง ซึ่งเกิดขึ้นในปี 1997 อาเซียนก็ตกต่ำมาก ดังนั้น หลังวิกฤติเศรษฐกิจ อาเซียนจึงหันกลับมามองว่า เราต้องกลับมาเดินหน้ากันต่อ จึงเป็นที่มาที่ได้มีการผลักดันให้มีการบูรณาการกันมากขึ้น ในปี 2002 สิงคโปร์ได้เสนอเรื่องการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนขึ้นและในปี 2003 มีการต่อยอดออกไป ในการประชุมสุดยอดที่บาหลี อินโดนีเซีย ก็ได้ตกลงกันว่า จะมีการจัดตั้งประชาคมอาเซียนขึ้น ซึ่งในตอนแรกตกลงกันว่า ภายในปี 2020 แต่ต่อมาก็ร่นมาเป็นปี 2015

ประชาคมอาเซียนมี 3 ประชาคมย่อย

ประชาคมย่อยที่ 1 คือ ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ซึ่งจะให้ความสำคัญในเรื่องความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคง การพัฒนาทางการเมือง ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน การสร้างกลไก ป้องกัน และแก้ไขความขัดแย้ง หัวใจของประชาคมการเมืองและความมั่นคง คือ กลไกการแก้ไขความขัดแย้ง แต่เราอาจจะคิดอยู่ในใจว่า อาเซียนมีกลไกแก้ไขความขัดแย้งที่มีประสิทธิภาพแล้วหรือยัง ดูจากกรณีไทย-กัมพูชา จะเห็นได้ว่า อาเซียนยังไม่มีกลไกแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่มีประสิทธิภาพ

ประชาคมย่อยที่ 2 คือ ประชาคมเศรษฐกิจ ประชาคมเศรษฐกิจให้ความสำคัญในเรื่องการทำให้เป็นตลาดเดียวและฐานการผลิตเดียว การเปิดเสรีด้านการค้าสินค้า เปิดเสรีด้านการค้าภาคบริการ เปิดเสรีการลงทุน การเคลื่อนย้ายเงินทุนที่เสรีมากขึ้น และการเปิดเสรีการเคลื่อนย้ายแรงงานมีฝีมือจะเห็นได้ว่า การเปิดเสรีการเคลื่อนย้ายเงินทุนไม่ใช้คำว่า free แต่ใช้คำว่า freer หมายความว่า ยังเปิดเสรีการเคลื่อนย้ายเงินทุนได้ไม่ 100% ส่วนที่สองที่เรายังเปิดเสรีไม่ได้ คือ เรื่องแรงงานจึงจำกัดอยู่เฉพาะการเปิดเสรีการเคลื่อนย้ายแรงงานมีฝีมือเท่านั้น แรงงานไร้ฝีมือยังเปิดไม่ได้

ส่วนประชาคมย่อยที่ 3 ของประชาคมอาเซียน คือ ประชาคมสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งเกี่ยวกับความร่วมมือด้านสังคมและวัฒนธรรมของอาเซียน ในอดีต ไทยอาจจะต้องทำคนเดียวในเรื่องของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ อาจจะต้องทำคนเดียวในเรื่องการให้สวัสดิการสังคม แต่ต่อไป ในเมื่อเราจะเป็นประชาคม 10 ประเทศ จะต้องมาร่วมมือกันในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ร่วมมือในการให้สวัสดิการสังคม ร่วมมือกันในเรื่องของการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและร่วมมือกันในการสร้างอัตลักษณ์ร่วมของอาเซียน อัตลักษณ์ร่วมมีความสำคัญมาก เพราะถ้าจะเป็นประชาคมก็จะต้องมีอัตลักษณ์ร่วมกัน ต้องมีความรู้สึกเป็นพวกเดียวกัน ทำอย่างไร ประชากร 600 ล้านคน จะรู้สึกเป็นพวกเดียวกัน ซึ่งจะต้องสร้างอัตลักษณ์ขึ้นมา หรืออาจจะต้องค้นหาอัตลักษณ์ร่วม ที่เราอาจจะมีอยู่แล้ว

ที่มา : โดยรศ.ประภัสสร์ เทพชาตรี (ไทยโพสต์)