ลึกๆ แล้วหลายๆ คนก็คงอยากเป็นนายของตัวเอง ไม่อยากเป็นลูกน้องของคนอื่นแต่ก็มักจะมีความคิดที่เป็นอุปสรรคที่ว่ากลัวทำแล้วขาดทุนไม่ประสบความสำเร็จ หรืออาจจะกลัวว่าจะเริ่มต้นไม่ได้เพราะทุนไม่พอ ความกลัวหรือความไม่มั่นใจเหล่านี้มักจะดับความฝันของเราบ่อยๆ และสุดท้ายก็ทำให้เราเลือกวิถีชีวิตในเขต comfort zone คือเป็นพนักงานประจำ ที่ถึงจะไม่รวยหวือหวา แต่ก็มีเงินให้ใช้ทุกเดือน มีความเสี่ยงน้อยกว่า อย่างไรก็ดีในความเป็นจริงแล้วธุรกิจที่โตเติบอย่างแข็งแกร่งหลายๆ เจ้าก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จมาตั้งแต่แรกเริ่ม หากแต่ผู้บริหารเรียนรู้จากความผิดพลาด และพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสจนประสบความสำเร็จอย่างงดงามได้จนถึงทุกวันนี้ ดังนั้น เหนือสิ่งอื่นใด เราเชื่อมั่นอยู่ข้อหนึ่งว่าหนึ่งในคุณสมบัติสำคัญของผู้ประกอบการซึ่งขาดไม่ได้ก็คือจิตใจอันแข็งแกร่งและมุ่งมั่นที่สร้างกิจการเป็นของตนเอง
ธุรกิจประเภท startup ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดเล็ก มักจะเริ่มต้นจากการมีทุนเพียงน้อยนิดหรือกระทั่งมีทุนเป็นศูนย์ แต่นั่นไม่ใช่อุปสรรคแต่อย่างใด อันที่จริงในการสร้างกิจการใช่ว่าการมีทุนอย่างเดียวจะนำพาให้ธุรกิจของเราประสบควาสำเร็จ แต่ผู้ประกอบการควรต้องมีไอเดียที่ชัดเจนว่าอยากจะทำอะไรเพื่อขายให้ใครไว้ก่อนเพื่อกำหนดทิศทางการทำงานและส่วนประกอบสำคัญที่จะขาดไม่ได้เลยก็คือความมุ่งมั่นที่ทำให้ธุรกิจของเรากลายเป็นจริงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความมุ่งมั่นนั้นจะต้องมาจากตัวเราเอง ความคิดสร้างสรรค์ กล้าคิดต่าง ทำสิ่งที่แตกต่าง รวมถึงความเข้าใจในธุรกิจและการบริหาร
แต่ด้วยความที่ไม่ย่อท้อไม่ล้มเลิกความตั้งใจ และฝ่าฟันอุปสรรคด้วยการลองวิธีแก้ปัญหาใหม่ๆ จึงทำให้ในที่สุดผู้บริหารกลุ่มนี้สามารถนำพาธุรกิจก้าวข้ามผ่านอุปสรรคและประสบความสำเร็จขึ้นมาได้
มีหัวใจสู้ แม้ไม่เห็นหนทางชนะ
ผู้บริหารประเภทนี้ หลายๆ คนล้มลุกคลุกคลานลองผิดลองถูกมาหลายครั้ง บางรายผ่านการติดหนี้มหาศาล หรือประสบกับวิกฤติเศรษฐกิจมาก่อน แต่ด้วยความที่ไม่ย่อท้อไม่ล้มเลิกความตั้งใจ และฝ่าฟันอุปสรรคด้วยการลองวิธีแก้ปัญหาใหม่ๆ จึงทำให้ในที่สุดผู้บริหารกลุ่มนี้สามารถนำพาธุรกิจก้าวข้ามผ่านอุปสรรคและประสบความสำเร็จขึ้นมาได้
ตัวอย่างผู้บริหารที่โดดเด่นในกลุ่มนี้ เป็นไปไม่ได้ที่จะไม่พูดถึงคุณตัน ภาสกรนที เจ้าของชาเขียวอิชิตัน เพราะก่อนที่จะเป็นคุณตันในปัจจุบันนี้ คุณตันเคยทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ แต่ประสบกับวิกฤติเศรษฐกิจเงินบาทลอยตัว และทำให้ติดหนี้กว่าหนึ่งร้อยล้าน หากเป็นคนอื่นหากต้องพลิกฐานะจากที่ประสบความสำเร็จ มีเงินมากมาย กลายเป็นมีหนี้กว่าร้อยล้านบาทเช่นนี้ คงรู้สึกสิ้นหวังและหมดหนทางแก้ไขปัญหา
แต่คุณตันไม่เป็นเช่นนั้น ด้วยความไม่ย่อท้อคุณตันจึงเดินหน้าหาทางแก้เกมโดยหาช่องทางโอกาสในการทำเงินใหม่ๆ ที่ไม่เหมือนใคร ไม่ว่าจะเป็นผู้บุกเบิกธุรกิจชาเขียวบรรจุขวดจนประสบความสำเร็จมหาศาล และเริ่มต่อยอดด้วยธุรกิจบุฟเฟต์ร้านอาหาร ซึ่งพลิกโฉมให้คุณตันจากที่ติดหนี้กลายเป็นเศรษฐกิจพันล้านได้ในที่สุด และแม้เมื่อโรงงานชาเขียวถูกน้ำท่วมเมื่อปีพ.ศ. 2554 อันถือเป็นความเสียหายรุนแรงต่อธุรกิจอีกครั้ง แต่คุณตันก็ยังไม่หยุดหาทางแก้ปัญหาต่อไปเพื่อก้าวผ่านวิกฤติและกลับมาอยู่ในจุดที่ประสบความสำเร็จในที่สุด
ด้านเจ้าของสาหร่ายเถ้าแก่น้อย คุณอิทธิพัทธ์ กุลพงษ์วณิชย์ (ต็อบ) ก็ประสบความยากลำบากมาไม่แพ้กัน เมื่อกิจการอสังหาริมทรัยพ์ของที่บ้านประสบปัญหาในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ 2540 คุณต็อบจึงดร็อปเรียนที่มหาวิทยาลัยและเดินหน้าลองผิดลองถูกในเส้นทางธุรกิจ ผลจากการทดลองขายเครื่องดีวีดีที่นำเข้าจากจีนก็คือขาดทุน เนื่องจากเครื่องด้อยคุณภาพทำให้คนนำสินค้ามาคืนจำนวนมาก แต่ด้วยความที่ไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรค คุณต๊อบจึงทดลองทำธุรกิจขายเกาลัด จนประสบความสำเร็จสร้างแฟรนไชส์ได้กว่า 30 สาขา ซึ่งสร้างเงินได้กว่าล้านบาท
แต่คุณต็อบก็ไม่หยุดเพียงเท่านั้น หลังจากสังเกตเห็นว่าสาหร่ายทอดเพื่อสุขภาพกำลังเป็นที่นิยมในขณะนั้น จึงได้เริ่มต้นจากลองผลิตและจำหน่ายที่ร้านเกาลัด แต่กลับพบว่าสาหร่ายทอดนี้สร้างเงินได้มากกว่าเกาลัดเองด้วยซ้ำ ทำให้คุณต็อบตั้งธงที่จะนำไปขายในร้าน 7-11 เพื่อเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่าย แต่กว่าจะเป็นสาหร่ายที่เราเห็นในเซเว่นอย่างในทุกวันนี้ คุณต็อบต้องเจออุปสรรคมากมาย ไม่ว่าจะแพกเกจที่ดูธรรมดาและเก็บสาหร่ายได้ไม่นาน รวมทั้งกำลังการผลิตและกำลังเงินในการผลิตสำหร่ายส่ง 7-11 ให้ได้ทั้ง 3,000 สาขา ทำให้จำต้องตััดใจขายแฟรนไชนส์เกาลัดเพื่อมาลงกับการผลิตสาหร่ายในครั้งนั้น แต่ความพยายามทั้งหมดก็ส่งผลให้คุณต็อบได้เป็นมหาเศรษฐีสองพันล้านได้ในวันนี้ และสาหร่ายเถ้าแก่น้อยก็เติบโตอย่างยิ่งใหญ่ทั้งในและต่างประเทศ
จากตัวอย่างผู้บริหารทั้ง 2 คนนี้ มีสิ่งที่เหมือนกันตรงที่ไม่คิดที่จะยอมพ่ายแพ้ต่ออุปสรรคที่ผ่านเข้ามา แม้ว่าจะเกิดวิกฤติร้ายแรงสักแค่ไหนก็ยังมีกำลังใจพร้อมลุกขึ้นสู้ หาทางแก้ปัญหาเพื่อฟันฝ่าอุปสรรคปัญหาเหล่านั้นไปได้ในที่สุด
สนุกกับการคิด
จะเห็นว่าแนวความคิดหรือไอเดียที่แตกต่างถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะขับเคลื่อนให้เกิดผลิตภัณฑ์หรือนวัตกรรมใหม่ๆ ที่สามารถจับความสนใจกลุ่มลูกค้าที่ต้องการความแปลกใหม่อยู่เสมอได้มากขึ้น ยิ่งโดยเฉพาะตลาดที่มีความเปลี่ยนแปลงไม่หยุดนิ่ง มีการแข่งขันสูง การที่ผู้บริหารมีความคิดสร้างสรรค์ พร้อมจะฉีกแหวกแนว และแม้แต่ยอมรับและเปิดโอกาสให้ลูกน้องสามารถออกความคิดเห็นแปลกใหม่และให้พื้นที่ในการทดลองทำสิ่งใหม่ๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนองค์กรให้เดินหน้าไปในตลาดปัจจุบันได้
ตัวอย่างเช่นคุณตันที่แต่เดิมทำแต่ชาเขียวบรรจุขวดออกมาขาย แต่เมื่อเริ่มอยู่ตัวก็ไม่หยุดเพียงแค่นั้น ได้ต่อยอดความคิด พัฒนาเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมสองชนิดรวมกันในขวดเดียวเพิ่มเติมเพื่อขยายฐานลูกค้าให้กว้างขึ้น และนอกจากจากร้านอาหารญี่ปุ่น ก็เปิดตัวธุรกิจร้านช็อกโกแลตขนมหวาน ร้านราเม็ง สนามฟุตบอลในร่ม ฯลฯ ซึ่งการที่มีสินค้าบริการมากขึ้น หลากหลายขึ้น ก็ส่งผลให้กลุ่มฐานลูกค้าของคุณตันกว้างและหลากหลายมากขึ้น ซึ่งมีผลให้ธุรกิจในภาพรวมเติบโตขึ้น
ส่วนยักษ์ใหญ่ของวงการเครื่องดื่มชูกำลังไทย คุณเฉลียว อยู่วิทยา ผู้ก่อตั้งกระทิงแดง ก็มีความคิดสร้างสรรค์หลากหลาย ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือแนวคิดในการผลิตยาทีซีมัยซินรักษาโรคครอบจักรวาลในช่วยเริ่มแรกในการทำธุรกิจ ซึ่งมาพร้อมกับการตลาดแบบที่ไม่เคยมีมาก่อนในสมัยนั้นซึ่งคือ “กลยุทธ์ป่าล้อมเมือง” คือการแจกทีซีมัยซินให้ทดลองใช้ฟรี เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ของตนได้แทรกซึมเข้ามาอยู่ในความคิดของผู้ใช้ นำไปสู่การบอกต่อ ส่วนผลลัพท์ที่ตามมาก็ทีซีมัยซินสามารถสร้างกำไรเป็นกอบเป็นกำและตีตลาดจากโอสถสภาซึ่งเป็นเจ้าตลาดธุรกิจยาในขณะนั้น
จุดมุ่งหมายสูงสุดในการประกอบธุรกิจก็ไม่ได้มีแต่การมุ่งหน้าสร้างกำไรอย่างเดียว แต่การทำให้ธุรกิจเดินหน้าได้ จำเป็นต้องอาศัยการพัฒนาองค์กรทั้งหมดไปในทิศทางเดียวกันพร้อมๆ กัน
เข้าใจคำว่าธุรกิจ
เป็นผู้บริหารที่เข้าใจคำว่าธุรกิจ การเป็นผู้บริหารในประเภทนี้เมื่อบริหารกิจการพักหนึ่ง จะเริ่มมองเห็นว่าสุดท้ายแล้วจุดมุ่งหมายสูงสุดในการประกอบธุรกิจก็ไม่ได้มีแต่การมุ่งหน้าสร้างกำไรอย่างเดียว แต่การทำให้ธุรกิจเดินหน้าได้ จำเป็นต้องอาศัยการพัฒนาองค์กรทั้งหมดไปในทิศทางเดียวกันพร้อมๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นภาพรวมในการจัดการต้นทุนสินค้า การจัดการกระแสเงินสดที่ดี การทำการตลาดที่แข็งแรง หรือแม้แต่การบริหารจัดการภายในองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้มีคนเก่งทำงานอยู่ในทีมได้ในระยะยาว ซึ่งหากเราขาดองค์ประกอบเหล่านี้ไป ภาพธุรกิจถัดจากนั้นอาจไม่ต่างจากการเล่นขายของและประสบความล้มเหลวไม่ช้าก็เร็ว
ป๋าเทพ โพธิ์งาม นักแสดงและตลกชื่อดังของเมืองไทย ได้ทดลองทำธุรกิจมาหลากหลายไม่ว่าจะเป็นอสังหาริมทรัพย์ ทำวีซีดีตลก เปิดร้านเสริมสวย อู่ซ่อมรถ ขายข้าวสาร มาจนถึงขายน้ำข้าวกล้องในปัจจุบัน แต่เนื่องจากใช้วิธีบริหารธุรกิจกันเองภายในครอบครัวตามสภาพ ขาดผู้มีประสบการณ์เข้ามาให้คำแนะนำและวางแผนด้านการตลาดอย่างจริงจัง จึงกลายเป็นว่าธุรกิจแต่ละอย่างที่ทำมาไม่ประสบความสำเร็จ
กรณีของป๋าเทพนี้ แม้ว่าจะมีความมุมานะ ตั้งใจและไม่ย่อท้อ รวมทั้งยังมีความคิดสร้างสรรค์ในการคิดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ แต่ด้วยความที่ขาดทักษะในการทำธุรกิจ ไม่ได้ศึกษาความต้องการตลาด จึงอาจทำสินค้าออกมาไม่ตอบโจทย์ อีกทั้งการบริหารภายในองค์กรเป็นแบบครอบครัว ซึ่งอาจจะไม่มีระบบหรือทิศทางที่ชัดเจน ทำให้เมื่อประสบกับปัญหาจึงทำให้ไม่มีทิศทางและวิธีการแก้ไขที่แข็งแกร่งมากพอ ทำให้ธุรกิจเหล่านั้นติดขัดและเดินหน้าต่อไม่ได้ แต่เมื่อมองย้อนกลับไปที่ข้อแรก เราก็ยังคงเชื่อมั่นเสมอว่าด้วยความตั้งใจจริงและไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรคใดๆ จะทำให้ทุกคน รวมถึงป๋าเทพเองด้วย สามารถเรียนรู้ทักษะที่จำเป็นและสามารถเดินหน้าธุรกิจจนประสบความสำเร็จได้ในสักวันหนึ่ง
สรุป
การบริหารจัดการธุรกิจฟังดูแล้วเหมือนจะเป็นเรื่องยาก เพราะนอกจากจะมีเรื่องต่างๆ ที่ต้องเรียนรู้มากมายแล้ว ยังไม่อาจรู้ได้เลยว่าวันใดจะเกิดวิกฤติหรือปัญหาไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ให้ต้องแก้ไข แต่จุดสำคัญที่สุดจริงๆ คือต้องใจสู้และพร้อมจะก้าวผ่านทุกอุปสรรคไปได้ มีสติเสมอ มีความคิดสร้างสรรค์ และคิดแก้ปัญหาทุกเรื่องอย่างมีระบบ แล้วทีนี้ไม่ว่าปัญหาจะใหญ่แค่ไหน ก็จะหาทางฟันฝ่าไปได้แน่นอน