การดำเนินธุรกิจทุกวันนี้หากจะขายสินค้า หรือให้บริการเฉพาะในประเทศคงจะยังไม่เพียงพอต่อการหารายได้หรือแสวงหากำไร ซึ่งทำให้เราต้องนำเข้าสินค้าจากประเทศต่างๆ เข้ามา อาจจะด้วยเหตุผลที่ว่าสินค้าถูกกว่า หรืออาจจะเป็นสินค้าที่ยังไม่มีในประเทศไทย หรืออาจจะเพราะสาเหตุประเทศไทยมีสินค้านี้แล้ว แต่ขาดสินค้านี้ขาดตลาดอยู่ เป้นต้น
ซึ่งธุรกิจในประเทศไทยมีการส่งสินค้าออกไปขายยังต่างประเทศค่อนข้างมาก แต่ก็มีการนำเข้าสินค้าหรือบริการจากต่างประเทศไม่น้อยเช่นเดียวกัน การนำสินค้าหรือบริการจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทยทำให้ผู้ประกอบธุรกิจในประเทศไทยต้องจ่ายเงินไปต่างประเทศที่มีผลทางประมวลรัษฎากรกำหนดให้ผู้จ่ายเงินไปต่างประเทศต้องมีการหักภาษี ณ ที่จ่าย
การจ่ายเงินได้ให้กับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศที่มิได้ประกอบกิจการในประเทศไทยแต่ได้รับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2) (3) (4) (5) หรือ (6) ที่จ่ายจากหรือในประเทศไทย ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นเสียภาษี โดยให้ผู้จ่ายหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายตามอัตราภาษีเงินได้สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลแล้วนำส่งอำเภอท้องที่พร้อมกับยื่นรายการตามแบบที่อธิบดีกำหนดภายใน 7 วันนับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงินได้พึงประเมินนั้น สรุปการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 70 ดังต่อไปนี้
1) เงินได้ตามมาตรา 40 (2) (3) (4) (5) หรือ (6) จะต้องหักร้อยละ 15 เช่น ค่านายหน้า ค่าลิขสิทธิ์ ดอกเบี้ยเงินกู้ยืม ค่าเช่า ค่าวิชาชีพอิสระ
2) เงินได้ตามมาตรา 40 (4) (ข) เงินปันผล จะต้องหักร้อยละ 10
การหักภาษี ณ ที่จ่ายตามมาตรา 70 จะหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50 ที่กิจการได้จ่ายให้บุคคล ห้างหุ้นส่วน บริษัท สมาคม หรือคณะบุคคลผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 หักภาษีเงินได้ไว้ทุกคราวที่จ่ายเงินได้พึงประเมิน เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 มีดังนี้
1) เงินได้ตามมาตรา 40(1) และ (2) เป็นการจ่ายเงินเดือน ค่าจ้างแรงงาน ฯลฯ จะหักภาษี ณ ที่จ่ายโดยให้คูณเงินได้พึงประเมินที่จ่ายด้วยจำนวนคราวที่จะต้องจ่ายเพื่อให้ได้จำนวนเสมือนหนึ่งว่าได้จ่ายทั้งปี แล้วคำนวณภาษีตามเกณฑ์ในมาตรา 48 เป็นเงินภาษีทั้งสิ้นเท่าใด ให้หารด้วยจำนวนคราวที่จะต้องจ่าย ได้ผลลัพธ์เป็นเงินเท่าใดให้หักเป็นเงินภาษีไว้เท่านั้น
2) เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (3) และ (4) เช่นการจ่ายค่าสิทธิ ลิขสิทธิ์ เงินปันผล ดอกเบี้ย ฯลฯ ให้แก่ผู้รับซึ่งมิได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทยให้หักภาษี ณ ที่จ่ายร้อยละ 15 ยกเว้นการจ่ายเงินปันผลให้หักภาษี ณ ที่จ่ายร้อยละ 10
3) เงินได้ตามมาตรา 40(5) และ (6) เช่น ค่าเช่า ค่าวิชาชีพอิสระ ที่จ่ายให้แก่ผู้รับซึ่งมิได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทยให้คำนวณหักภาษี ณ ที่จ่ายร้อยละ 15
4) กรณีผู้จ่ายเป็นรัฐบาล องค์การของรัฐ เทศบาล สุขาภิบาล หรือองค์การบริหารราชการส่วนท้องถิ่นอื่น ซึ่งจ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (5) (6) (7) หรือ (8) แต่ไม่รวมถึงการจ่ายค่าซื้อพืชผลทางการเกษตรให้กับผู้รับรายหนึ่งๆ มีจำนวนรวมทั้งสิ้นตั้งแต่ 10,000 บาทขึ้นไป แม้การจ่ายนั้นจะได้แบ่งจ่ายครั้งหนึ่งๆไม่ถึง 10,000 บาท ให้คำนวณหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 1
5) ในกรณีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) เฉพาะที่จ่ายให้แก่ผู้รับซึ่งขายอสังหาริมทรัพย์ให้คำนวณหักดังนี้
ก. สำหรับอสังหาริมทรัพย์อันเป็นมรดกหรืออสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับจากการให้โดยเสน่หาให้คำนวณภาษีตามเกณฑ์ในมาตรา 48(4)(ก) เป็นเงินภาษีทั้งสิ้นเท่าใดให้หักเป็นเงินภาษีไว้เท่านั้น
ข. สำหรับอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยทางอื่น นอกจาก ก. ให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา แล้วคำนวณภาษีตามเกณฑ์ในมาตรา 48(4) เป็นเงินภาษีทั้งสิ้นเท่าใดให้หักเป็นเงินภาษีไว้เท่านั้น
6) ในกรณีการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์โดยไม่มีค่าตอบแทนให้ผู้โอนหักภาษีตามเกณฑ์ใน (5) โดยถือว่าผู้โอนเป็นผู้จ่ายเงินได้
อย่างไรก็ดีการจ่ายเงินไปต่างประเทศที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายแล้วนำส่งกรมสรรพากรโดยการยื่นแบบ ภ.ง.ด.54 นั้น จะต้องพิจารณาข้อยกเว้นภาษีอากรตามประมวลรัษฎากรที่ได้ยกเว้นแก่บุคคลตามสัญญาว่าด้วยการยกเว้นเก็บภาษีซ้อนที่รัฐบาลไทยได้ทำไว้หรือจะได้ทำกับรัฐบาลต่างประเทศ หากการจ่ายเงินเข้าหลักเกณฑ์เงื่อนไขที่ได้กำหนดยกเว้นในอนุสัญญาภาษีซ้อนก็จะได้รับสิทธิยกเว้นไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายด้วย