AEC กับการเปิดเสรีด้านการลงทุน

การเปิดเสรีด้านการลงทุนเป็นประเด็นที่มีความสำคัญเพิ่มมากขึ้นตามลำดับสำหรับการเจรจาทำความตกลงรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจไม่ว่าจะในระดับใด (พหุภาคี ภูมิภาค ทวิภาคี) รวมทั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) โดยนัยสำคัญและความเข้มข้นของประเด็นเจรจาในด้านการลงทุนก็จะมีความแตกต่างกันไปตามคู่ภาคีที่เข้าร่วมอยู่ในการเจรจา สำหรับประเทศไทย การเจรจาเปิดเสรีด้านการลงทุนมักจะเป็นไปในลักษณะของการตั้งรับเสียเป็นส่วนใหญ่ เพราะมองว่าการเปิดเสรีทางด้านการลงทุนจะเป็นการเปิดโอกาสให้ธุรกิจต่างชาติเข้ามาลงทุนและแข่งขันกับธุรกิจภายในประเทศได้ และด้วยธุรกิจต่างชาติที่มีทุนขนาดใหญ่ (โดยเปรียบเทียบ) และมีความได้เปรียบในด้านอื่นๆอีกมาก ก็เลยเกรงว่า การเปิดเสรีด้านการลงทุนนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศคู่ภาคีในความตกลงและอาจก่อให้เกิดปัญหาที่รุนแรงต่อธุรกิจภายในประเทศได้ โดยลืมนึกถึงประโยชน์ทางด้านอื่นๆที่จะได้รับจากการลงทุนไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นต่อผู้บริโภค การจ้างงาน และการพัฒนาคุณภาพของแรงงานและประสิทธิภาพการผลิต ในขณะเดียวกัน ก็หันไปพึ่งพาเครื่องมืออื่นๆเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ได้แก่ มาตรการในการส่งเสริมการลงทุนต่างๆ ซึ่งก็จะใช้วิธี”ยกเว้น”หรือ “ละเว้น” กฎ ระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ ที่มีการกำหนดไว้ให้กับการลงทุนที่สามารถเข้าถึงกระบวนการของการส่งเสริมการลงทุน

วิธีการทำอาชีพอิสระ

ประเด็นการเปิดเสรีด้านการลงทุนมีมุมมองที่แตกต่างภายใต้กรอบประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่ประเทศไทยมองว่า การเปิดเสรีด้านการลงทุนไม่เฉพาะเพียงแต่ประเทศไทยจะดึงดูดการลงทุนจากประเทศสมาชิกอาเซียนเท่านั้น แต่มองว่าประเทศไทยอาจใช้ประโยชน์จากการเป็นผู้ไปลงทุนในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนได้ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนใหม่ ได้แก่ กัมพูชา ลาวพม่า และเวียดนาม ซึ่งแท้จริงแล้ว มุมมองทางด้านการลงทุนระหว่างประเทศก็น่าจะคำนึงถึงการลงทุนทั้งสองทิศทางอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการพิจารณาภายใต้กรอบความตกลงใด หรือคู่ภาคีจะเป็นใคร ที่สำคัญกว่านั้นคือ เราเข้าใจประเด็นต่างๆทางด้านการลงทุนได้ดีเพียงใด เพื่อเราจะได้ประเมินผลประโยชน์และผลเสียหายของข้อตกลงทางด้านการลงทุนนั้นได้อย่างชัดเจน

พิมพ์เขียวประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC Blueprint) ได้มีการกำหนดให้การเปิดเสรีด้านการลงทุนเป็นแนวทาง (ยุทธศาสตร์) หนึ่งในการผลักดันให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการสร้างให้อาเซียนเป็นตลาดและฐานการผลิตร่วมเดียวกัน (Single Market and Production Base) นอกเหนือไปจากการเปิดเสรีทางการค้าสินค้าและบริการ การเคลื่อนย้ายเงินทุนและแรงงานฝีมือเสรี จึงน่าจะเป็นโอกาสอันดีที่เราจะได้มาร่วมกันขบคิดบริบทต่างๆ ในการเปิดเสรีการลงทุนอย่างถี่ถ๎วน เพื่อให้ทราบว่าผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากการเปิดเสรีการลงทุนเป็นอย่างไร จะเข้าถึงประโยชน์เหล่านั้นได้อย่างไร และถ้าก่อให้เกิดความเสียหายในทางใดทางหนึ่งต่อประเทศ เราจะมีวิธีป้องกัน แก้ไขและวางแผนรองรับได้อย่างไรบ้าง เพราะการเปิดเสรีทางด้านการลงทุนในหลายประเด็นจะต้องเกี่ยวข้องกับการปรับปรุงแก้ไข กฎหมายกฎระเบียบภายในประเทศเองด้วย

ก่อนอื่นคงต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่าขอบเขตทางด้านการลงทุนครอบคลุมอย่างไรบ้าง ในบริบทของข้อตกลงการเปิดเสรีด้านการลงทุน หมายถึง การลดหรือขจัดอุปสรรคต่อการเคลื่อนย้ายของปัจจัยการผลิตโดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจัยทุนและแรงงานระหว่างประเทศครอบคลุมสาขาการผลิต เกษตร ประมง ป่าไม้และเหมืองแร่

ดังนั้น ข้อตกลงเปิดเสรีด้านการลงทุนจึงมักจะเกี่ยวข้องกับเรื่องการอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ดำเนินการได้โดยนักลงทุนต่างชาติ (หรือการกำหนดสัดส่วนความเป็นเจ้าของของนักลงทุนต่างชาติ) ความยาก/ง่ายในการเข้ามาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายใต้กรอบสาขาที่กล่าวถึงเหล่านั้น หรือในทางวิชาการมักจะเรียกรวมๆ กันว่าเป็นเรื่อง”การเข้าสู่ตลาด” และเมื่อนักลงทุนตัดสินใจและสามารถเข้ามาลงทุนได้แล้ว เรื่องที่จะเป็นข้อกังวลสำหรับนักลงทุนต่างชาติต่อไปก็คือ การปฏิบัติต่อนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งโดยปกติก็จะเรียกร้องไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติ กล่าวคือ อยากให้ปฏิบัติต่อนักลงทุนต่างชาติเฉกเช่นเดียวกับนักลงทุนภายในประเทศ (การปฏิบัติเยี่ยงชาติ หรือNational Treatment) นอกจากนั้น ก็ยังมีประเด็นในเรื่องการระงับข้อพิพาท(Dispute Settlement) และข้อตกลงร่วมกัน (Mutual Recognition Agreement: MRA) ที่อาจเกิดขึ้นได้ระหว่างคู่ภาคี ที่กล่าวถึงข้างต้นเป็นเพียงการขีดกรอบโครงร่างข้อตกลงที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเสรีด้านการลงทุนเท่านั้น รายละเอียดที่จะต้องพิจารณานั้นยังมีอีกมากมาย เพื่อให้สามารถประเมินผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างรอบคอบ เพราะในแต่ละเรื่องที่ได้กล่าวถึงไปข้างต้นนั้นยังมีประเด็นยํอยที่เราจะต้องพิจารณาอีกมาก

ยกตัวอย่างเช่น เรื่องการเข้าสู่ตลาดการตัดสินใจว่าจะมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจใดบ้างหรือไม่? ที่เราอยากจะสงวนไว้ไม่ให้ต่างชาติมาดำเนินการก็เป็นเรื่องที่จะต้องขบคิดให้มากเช่นถ้าบอกว่าไทยไม่อนุญาตให้ต่างชาติมาลงทุนท่านาในประเทศไทย ก็ต้องตระหนักด้วยว่า การห้ามนั้นเท่ากับการปิดโอกาสที่เราอาจได้รับประโยชน์จากทุนต่างชาติมาลงทุนท่านาในประเทศไทยได้ เช่น อาจก่อให้เกิดการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีการผลิต เพิ่มผลิตภาพ เพิ่มผลผลิต และทำให้ประเทศได้ประโยชน์จากมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจที่สร้างขึ้น อย่างไรก็ตาม การดำเนินการดังกล่าวก็อาจก่อให้เกิดความเสียหายกับบางกลุ่มในระบบเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของวิธีการเปิด(อนุญาต) และการกำกับดูแลอีกด้วยที่จะต้องพิจารณา ซึ่งบทความที่นำเสนอนี้จะมีส่วนในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับกรอบและบริบทที่จะเป็นข้อพิจารณาที่ถูกต้อง แม่นยำเข้าใจตรงกัน เพื่อลดข้อพิพาทที่อาจเกิดขึ้นจากการถกเถียงกันอย่างสร้างสรรค์ และไม่กลายไปเป็นข้อขัดแย้งในสังคมโดยมีประโยชน์ของประเทศเป็นที่ตั้งทางหนึ่งด้วย

ที่มา : สันติ ชัยศรีสวัสดิ์สุข คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒน บริหารศาสตร์ : โพสต์ทูเดย์