จุดแข็ง
– บรูไนเป็นประเทศที่มีกำลังซื้อสูง และมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ เนื่องจากการเติบโตของภาคที่มิใช่น้ำมัน โดยเฉพาะภาคการค้าปลีกและการค้าส่ง การก่อสร้าง และการขนส่ง คมนาคมจะเป็นตัวส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจต่อไป และรัฐ บาลพยายามที่จะผลักดันให้มีโครงการต่างๆ เกิดขึ้น
– รัฐบาลบรูไนส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชน เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและมั่นคง โดยเฉพาะตามแผนพัฒนาฉบับที่ 8 เน้นการเติบโตของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
– ประเทศบรูไนให้สิทธิพิเศษแก่ประเทศสมาชิกอาเซียนในด้านการลดอัตราภาษีนำเข้า เหลือร้อยละ 0-5
จุดอ่อน
– ขั้นตอนและกระบวนการสั่งซื้อและขนส่งสินค้าของบรูไนมีความไม่คล่องตัวโดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ที่มีชาวสิงคโปร์ร่วมลงทุนอยู่ด้วย การนำเข้ามักจะขึ้นอยู่กับนักธุรกิจสิงคโปร์ ซึ่งต้องมีการขนส่งผ่านทางสิงคโปร์ก่อน
– ข้อจำกัดทางการค้าที่เคร่งครัดมาก เกี่ยวกับการกำหนดข้อบังคับในการนำเข้าสินค้าประเภท อาหาร ซึ่งจะต้องเป็นอาหารฮาลาลเท่านั้น โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ ได้แก่ เนื้อโค กระบือ แพะ แกะ และไก่ ซึ่งเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่รับผิดชอบของบรูไนคือ กระทรวงศาสนา
โอกาส
– ประเทศบรูไนต้องการนำเข้าสินค้าเกษตรหลายรายการเพื่อให้เพียงพอกับความต้องการในประเทศ เช่น ข้าว ผัก และผลไม้ต่างๆ รวมถึงเนื้อสัตว์
– รัฐบาลมีนโยบายในการสนับสนุนด้านสาธารณูปโภคพื้นฐาน อุปกรณ์ และการหาตลาด รวมถึงการให้กู้ยืมเงินทุนเพื่อการลงทุนและงดเว้นภาษี
อุปสรรค
– เรือที่บรรทุกสินค้าไปบรูไนมีสินค้าเฉพาะเที่ยวขาไป แต่ไม่มีสินค้าในเที่ยวขากลับ ทำให้ต้นทุน การขนส่งสินค้าเพิ่มสูงขึ้น
ที่มา: ศูนย์บริการข้อมูลการค้าการลงทุน จังหวัดเชียงใหม่
ข้อมูลประเทศบรูไน เพื่อการลงทุน
ไทยและบรูไนเริ่มสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2527 ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่บรูไนได้รับเอกราชจากอังกฤษ หลังจากนั้นก็มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดเรื่อยมา โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระดับพระราชวงศ์และระดับฝ่ายบริหาร
ประเทศบรูไน เป็นประเทศที่มีความมั่นคงสูง ทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจ โดยมีรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปีอยู่ที่ 2 ของอาเซียน (รองจากสิงคโปร์) รายได้หลักของบรูไนมาจากการผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติ ซึ่งผลิตได้มากเป็นอันดับ 4 ของโลก ทั้งนี้ บรูไนส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติกว่าร้อยละ 90 ของการส่งออกทั้งหมด รายได้จากการส่งออกน้ำมันดังกล่าว มีหน่วยงานที่เรียกว่า Brunei Investment Agency (BIA) นำไปลงทุนในต่างประเทศ หรือร่วมทุนกับต่างประเทศ ทั้งในรูปการถือหุ้น การซื้อพันธบัตรในประเทศต่าง ๆ ด้วยเหตุนี้ทำให้บรูไนมีดุลการค้าเกินดุลมาโดยตลอด
อย่างไรก็ดี รัฐบาลบรูไนตระหนักดีว่าพลังงานที่ตนครอบครองอยู่นั้นกำลังจะหมดไปในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า จึงเร่งปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจโดยมีการประกาศแผนพัฒนาในระยะยาวชื่อว่า วิสัยทัศน์บรูไน ปี 2578 (Wawasan 2035-Vision Brunei 2035) แผนพัฒนาฉบับนี้แสดงให้เห็นว่าบรูไนเปลี่ยนไปให้ความสำคัญกับการพัฒนาภาคเศรษฐกิจอื่น นอกจากภาคพลังงาน ไม่ต้องพึ่งน้ำมันเพียงอย่างเดียว รวมไปถึงการส่งเสริมให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศ ตั้งแต่รัฐบาลบรูไนเร่งปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจใหม่ รัฐบาลบรูไนมีความพยายามที่จะออกมาตรการต่าง ๆ กระตุ้นการลงทุนในภาคส่วนอื่น นอกจากภาคพลังงาน เพื่อสร้างความหลากหลายทางเศรษฐกิจ เช่น นโยบายส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติ โดยการให้สิทธิพิเศษหลายประการแก่นักลงทุนต่างชาติ ดังเช่น การให้สิทธิพิเศษด้านภาษี บรูไนไม่มีการเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและห้างหุ้นส่วน ไม่มีเก็บภาษีส่งออก ภาษีขาย ภาษีการผลิต สำหรับภาษีนิติบุคคลนั้นยังมีการเรียกเก็บอยู่ แต่เป็นการเรียกเก็บจากนิติบุคคลที่เป็นบริษัทเท่านั้น
อย่างไรก็ดี อัตราภาษีที่จัดเก็บก็อยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำมากหากเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน สำหรับภาษีเงินได้ของบริษัทต่างชาติจะคำนวณภาษีเฉพาะรายได้ที่เกิดในบรูไนเท่านั้น ในอัตราร้อยละ 30 จากการที่ประเทศไทยและบรูไนต่างเป็นสมาชิกอาเซียน ในปี 2558 ที่จะมีการเปิดเสรีทางการค้าอย่างเต็มตัว ภาษีสินค้านำเข้าทั้งหมดจะเหลือร้อยละ 0 เว้นแต่สินค้าประเภท Sensitive List ซึ่งสามารถเก็บภาษีได้ แต่ต้องไม่เกินร้อยละ 5 ซึ่งบรูไนมีสินค้าประเภท Sensitive List เพียงแค่ 2 รายการ ได้แก่ ชาและกาแฟ นอกจากนี้ยังมีการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนจากต่างชาติ โดยอนุญาตให้ต่างชาติถือหุ้นร้อยละ 100 ได้ในกิจการเกือบทุกสาขา สำหรับกิจการที่รัฐบาลบรูไนพยายามเน้นให้เกิดการพัฒนามากที่สุด ได้แก่ การเกษตรและการท่องเที่ยว อันเป็นกิจการที่ไทยมีความเชี่ยวชาญมากที่สุด แม้บรูไนเป็นประเทศที่มีเสถียรภาพทั้งทางด้านเศรษฐกิจและการเมือง มีการส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติ รวมไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศที่ใกล้ชิดทั้งในระดับราชวงศ์และระดับบริหาร แต่ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศกลับมีไม่มากนัก เมื่อเทียบกับประเทศสมาชิกอาเซียนอื่น ๆ
รัฐบาลบรูไนพยายามที่จะเน้นให้เกิดการพัฒนาด้านการเกษตรและการท่องเที่ยว อันเป็นสาขาที่ไทยมีความเชี่ยวชาญ ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศก็เติบโตขึ้น ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน-2 กรกฎาคม 2555 ที่ผ่านมา สมเด็จพระราชาธิบดีฮัจญี ฮัสซานัล โบลเกียห์ มูอิซซัดดิน วัดเดาละห์ แห่งบรูไนดารุสซาลาม เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานะแขกของรัฐบาล ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของนายกรัฐมนตรี
ระหว่างการเยือนบรูไนอย่างเป็นทางการครั้งนี้ เป็นการใช้ “จุดแข็ง” ของแต่ละฝ่ายช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เช่น กรณีอุตสาหกรรมฮาลาล มีการทำข้อเสนอโครงการร่วมกันเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมอาหารของแต่ละประเทศ บรูไนสามารถใช้ไทยเป็นฐานการผลิตสินค้าเพื่อส่งออกไปยังประเทศที่สาม ด้วยความที่ไทยมีผลิตผลทางการเกษตรมาก มีชื่อเสียงในเรื่องผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและอุตสาหกรรมฮาลาลระดับโลก อีกทั้งยังมีแรงงานทั้งประเภทแรงงานฝีมือและไร้ฝีมือ
บรูไนขาดแคลนแรงงานจนต้องจ้างแรงงานต่างชาติเป็นจำนวนมาก ขณะที่ฝ่ายไทยนั้นช่วยถ่ายทอดความเชี่ยวชาญทางการเกษตร เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเกษตรต่าง ๆ รวมไปถึงการปศุสัตว์และการประมงด้วย
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ