ประเด็นสำคัญ
• สปป.ลาว เป็นประเทศล่าสุดใน ASEAN ที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิก WTO อย่างเป็นทางการในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2556 นี้ ช่วยขยายโอกาสทางการค้าและดึงดูดต่างชาติเข้ามาลงทุนใน สปป.ลาว เพิ่มขึ้น ขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตสดใสไม่ต่ำกว่าร้อยละ 8 อย่างต่อเนื่อง
• ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การเป็นสมาชิก WTO เต็มตัวของ สปป.ลาว อาจไม่เห็นผลการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนัก แต่จะเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างกฎระเบียบ ให้เอื้อต่อการประกอบธุรกิจ ซึ่งธุรกิจไทยจะได้อานิสงส์เติบโตควบคู่ไปกับการค้าและการลงทุนที่เข้าสู่ สปป.ลาว
• ทั้งนี้ ไทยมีโอกาสสูงที่จะได้รับประโยชน์ในฐานะหนึ่งในสมาชิกกรอบ AEC และ RCEP ที่ สปป.ลาว มีข้อผูกพันในการเปิดเสรีที่ครอบคลุมในระดับกว้างและลึกกว่ากรอบ WTO ประกอบกับการที่ สปป.ลาวไม่มีพรมแดนติดทะเลจึงทำให้การติดต่อค้าขายและเข้ามาลงทุนของประเทศส่วนใหญ่อาจต้องอาศัยทางผ่านจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทย
WTO ผลักดัน สปป.ลาว สู่ระบบการค้าสากล
สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว หรือ สปป.ลาว เป็นประเทศล่าสุดในอาเซียนที่กำลังก้าวเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกหรือ WTO (World Trade Organization) อย่างเป็นทางการในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ช่วยเติมเต็มบทบาทอาเซียนสู่ระบบการค้าสากล ทั้งยังเป็นก้าวสำคัญของ สปป.ลาว ในการปรับเปลี่ยนนโยบายและโครงสร้างที่เกี่ยวข้องกับกฎระเบียบการค้าและการลงทุนให้สอดคล้องกับกรอบปฏิบัติทางการค้าที่เท่าเทียมกันของ WTO อันจะช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่นักธุรกิจต่างชาติที่สนใจทำธุรกิจทั้งการค้าและการลงทุนกับ สปป.ลาว ในระยะข้างหน้า โดยข้อผูกพันการเปิดตลาดที่สำคัญของ สปป.ลาว ได้แก่
การปรับโครงสร้างภาษีสินค้านำเข้า (Bound Rate) โดยผูกพันอัตราภาษีนำเข้าทุกประเภทเฉลี่ยสูงสุดไม่เกินร้อยละ 18.8 สำหรับในกลุ่มสินค้าเกษตรเฉลี่ยไม่เกินร้อยละ 19.3 เป็นอัตราที่สูงกว่าสินค้าอุตสาหกรรมที่เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 18.7 เอื้อประโยชน์ต่อการนำเข้าซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคเป็นสำคัญ
การเปิดตลาดสินค้าบริการในกลุ่มสาขาที่กำหนด 10 สาขา (79 สาขาย่อย) เอื้อต่อธุรกิจบริการของต่างชาติที่จะเข้าไปสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจของ สปป.ลาว ได้แก่ 1) บริการทางธุรกิจ 2) บริการโทรคมนาคม (Courier and Telecom Services) 3) การก่อสร้าง 4) การกระจายสินค้า 5) การศึกษาภาคเอกชน 6) การบริการด้านสิ่งแวดล้อม 7) การประกัน 8) ธนาคารและการเงิน 9) บริการโรงพยาบาลเอกชน 10) การท่องเที่ยวและการขนส่งทางอากาศ
นอกจากนี้ ยังมีข้อกำหนดบางรายการที่ผ่อนผันระยะเวลาบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบ อาทิ ข้อกำหนดเรื่องอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า (Technical Barriers to Trade:TBT) และมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (Sanitary and Phytosanitary Measures: SPS) บังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบในวันที่ 1 มกราคม 2558 และในปีถัดมาวันที่ 31 ธันวาคม 2559 จะบังคับใช้ข้อกำหนดสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาหรือ TRIPS (Trade-Related Aspects of Intellectual Property Rights)
การเปิดประตูของ สปป.ลาว อย่างเป็นทางการตามบรรทัดฐานของ WTO จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ สปป.ลาว และเอื้อประโยชน์ต่อไทยในหลายแง่มุม กล่าวคือ
สปป.ลาว ตั้งเป้าชักจูงการลงทุนจากต่างประเทศสูงขึ้นเป็นสัดส่วนร้อยละ 32 ต่อ GDP ภายในช่วงปี 2554-2558 โดยคาดหมายให้มีมูลค่าการลงทุนจากต่างประเทศแตะ 15 พันล้านดอลลาร์ฯ (จาก 3.4 พันล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2554) เป็นจังหวะที่สอดคล้องกับการเข้า WTO ของ สปป.ลาว ซึ่งจะยิ่งสร้างความเชื่อมั่นในเวทีการค้าโลกมากขึ้น ช่วยกระตุ้นให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในสาขาหลากหลายมากขึ้น(ปัจจุบันการลงทุนมักเป็นโครงการขนาดใหญ่กระจุกตัวในสาขาพลังงานและเหมืองแร่) รวมทั้งปัจจัยบวกจากธุรกิจบริการด้านท่องเที่ยวที่มีโอกาสเติบโตดีขึ้นจากการเข้ามาของนักท่องเที่ยวในแถบภูมิภาคเอเชีย และการเตรียมความพร้อมรองรับการก้าวสู่ AEC (ASEAN Economic Community) โดยคาดว่าการลงทุนจากต่างประเทศน่าจะเป็นแรงผลักดันสำคัญให้เศรษฐกิจ สปป.ลาว ในปี 2556 เติบโตโดดเด่นที่สุดในอาเซียนด้วยอัตราร้อยละ 8.1 และรักษาระดับการขยายตัวในระดับใกล้เคียงกันต่อเนื่องจนถึงปี 2558
เศรษฐกิจเติบโต ยกระดับรายได้และอำนาจซื้อเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งตั้งแต่ปี 2553 สปป.ลาว ได้ก้าวข้ามจากการเป็นประเทศรายได้ต่ำ (Low Income Country ตามนิยามของธนาคารโลก ซึ่งหมายถึงประเทศที่มีรายได้ประชาชาติต่อหัวต่ำกว่า 1,025 ดอลลาร์ฯ) โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในปี 2555 ที่ผ่านมา รายได้ต่อหัวของ สปป.ลาว อยู่ที่ประมาณ 1,450 ดอลลาร์ฯ และประเมินว่าจะมีรายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าของระดับดังกล่าวได้ประมาณปี 2563 (ค.ศ. 2020) โดยหากเปรียบเทียบกับจังหวัดของไทย อาจกล่าวได้ว่าปัจจุบัน สปป.ลาว มีรายได้ต่อหัวใกล้เคียงกับจังหวัดที่มีรายได้ในระดับต่ำของไทย อย่างมหาสารคาม สกลนคร หนองคาย และชัยภูมิ แต่ในอีกไม่ถึง 10 ปีข้างหน้า ทำให้ชาวลาวอาจมีกำลังซื้อสูงขึ้นมาทัดเทียมกับจังหวัดใหญ่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อย่างขอนแก่นในปัจจุบัน จึงอาจกล่าวได้ว่าระยะข้างหน้า อำนาจซื้อของชาวลาว ที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นการเพิ่มทางเลือกในการใช้จ่ายบริโภคสินค้าได้หลากหลาย ทั้งยังอาจมีความสามารถจับจ่ายครอบคลุมสินค้านอกเหนือจากสิ่งจำเป็นขั้นพื้นฐานได้อีกด้วย
ผู้ส่งออกสินค้าไทยเตรียมรับโอกาส ตามการเติบโตทางเศรษฐกิจของ สปป.ลาว ที่น่าจะรักษาระดับการเติบโตในเกณฑ์สูงได้ต่อไปในระยะข้างหน้า โดยสินค้าที่คาดว่าจะได้รับอานิสงส์ดังกล่าว ที่สำคัญจะเป็นกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคของไทยที่ได้รับการตอบรับอย่างดี รวมไปถึงสินค้าขั้นกลางอันมีโอกาสเติบโตรองรับการลงทุนใหม่ๆ รวมถึงการขยายตลาดส่งออกสินค้าของ สปป.ลาว ที่น่าจะมีเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ในปี 2555 ที่ผ่านมาการส่งออกของไทยไป สปป.ลาว ขยายตัวสูงร้อยละ 30.4 โดยไทยเกินดุลการค้ากับ สปป.ลาว มาโดยตลอด นอกจากนี้ ไทยเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของ สปป.ลาว เป็นทั้งตลาดส่งออกครองส่วนแบ่งราวร้อยละ 50 ของการส่งออกทั้งหมดของ สปป.ลาว และยังเป็นแหล่งนำเข้าครองส่วนแบ่งราวร้อยละ 40 ของการนำเข้าทั้งหมดของ สปป.ลาว อีกด้วย
ไทยอาจได้อานิสงส์จากการเป็นประตูการค้าเชื่อม สปป.ลาว สู่ตลาดโลก เป็นที่ทราบกันดีว่าสปป.ลาว ไม่มีพรมแดนติดทะเล ดังนั้น หากการค้าระหว่างประเทศของ สปป.ลาว เติบโตยิ่งขึ้นหลังจากเข้าเป็นสมาชิก WTO แล้ว ก็มีโอกาสที่ไทยอาจได้ประโยชน์ด้านโลจิสติกส์จากการที่ สปป.ลาว จะต้องส่งออกหรือนำเข้าสินค้าด้วยท่าเรือของไทยเพื่อเป็นประตูเชื่อมการค้ากับนานาประเทศ โดยเฉพาะภูมิภาคในฝั่งตะวันตก หรือทางใต้ของคาบสมุทรอินโดจีน ในขณะที่การค้าขายของ สปป.ลาว กับประเทศฝั่งตะวันออกอาจผ่านท่าเรือของเวียดนามเป็นส่วนใหญ่
คู่แข่งสำคัญของไทยยังคงเป็นจีนและเวียดนาม แม้การเข้าเป็นสมาชิก WTO จะทำให้ประตูการค้าการลงทุนของ สปป.ลาว เปิดกว้างขึ้นแก่นานาประเทศ แต่โดยเปรียบเทียบแล้วไทยค่อนข้างได้เปรียบจากเหตุผล 2 ประการ ประการแรก ข้อผูกพันที่ สปป.ลาว เปิดให้แก่สมาชิก WTO เป็นระดับที่ยังอยู่ในขอบเขตจำกัดหากเทียบกับการเปิดเสรีภายใต้กรอบ AEC ประการที่สอง ASEAN+6 ที่กำลังจะพัฒนาไปเป็น RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) ทำให้ประเทศในกลุ่มนี้เข้าถึงโอกาสทางการค้าและการลงทุนกับ สปป.ลาว ได้มากกว่า ขณะเดียวกัน ด้วยปัจจัยด้านภูมิศาสตร์ของ สปป.ลาว ที่ไม่มีทางออกทะเล การติดต่อค้าขายและเข้ามาลงทุนของต่างชาติส่วนใหญ่จึงต้องผ่านประเทศที่รายล้อม สปป.ลาว อยู่ จึงทำให้รูปแบบโครงสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจคงไม่เปลี่ยนแปลงจากปัจจุบันมากนัก โดยคู่แข่งสำคัญของไทยใน สปป.ลาว ยังคงเป็นเวียดนามและจีน ซึ่งในอดีตไทยเคยเป็นผู้ลงทุนสะสมอันดับ 1 ใน สปป.ลาว แต่ในที่สุดก็ถูกนักลงทุนเวียดนามและจีนค่อยๆแซงหน้าขึ้นมาในปี 2550 และปัจจุบันไทยเป็นนักลงทุนอันดับ 3 มีสัดส่วนการลงทุนใน สปป.ลาว ประมาณ 1 ใน 5 ของการลงทุนจากต่างชาติใน สปป.ลาว ธุรกิจที่สำคัญได้แก่ การแปรรูปอาหาร สิ่งทอ และก่อสร้าง ซึ่งรวมแล้วมีเม็ดเงินลงทุนสูสีกับจีนที่อยู่ในอันดับ 2
อนึ่ง แม้ว่า สปป.ลาว มีศักยภาพที่จะเติบโตในระดับสูงอย่างต่อเนื่องในระยะข้างหน้า แต่ประเด็นที่ต้องระมัดระวังที่อาจบั่นทอนเสถียรภาพทางเศรษฐกิจโดยรวมได้ อาทิ ความเสี่ยงจากความไม่สมดุลเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่พึ่งพาบางภาคเศรษฐกิจในสัดส่วนค่อนข้างมาก(ภาคพลังงานและเหมืองแร่) รวมทั้ง สปป.ลาว เป็นประเทศที่มีระดับหนี้สูงและการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสูง อย่างไรก็ดี คาดว่าเมื่อโครงการด้านพลังงานใน สปป.ลาว สามารถดำเนินการได้เต็มประสิทธิภาพ และการลงทุนใหม่ๆที่เพิ่มเข้ามาในระยะข้างหน้า ก็น่าจะช่วยสร้างรายได้จากภาคส่งออกให้แก่ สปป.ลาว เพิ่มขึ้นและปรับปรุงฐานะดุลการค้าได้พอสมควร
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ไทยอาจได้ประโยชน์จากการเปิดตลาดโดยตรงของ สปป.ลาว ไม่มากนัก เนื่องจากไทยมีแต้มต่อทางธุรกิจภายใต้กรอบความตกลงการค้าเสรีอาเซียนที่จะรวมตัวกันเป็น AEC ในปี 2558 ซึ่งเปิดโอกาสทางธุรกิจให้ประเทศสมาชิกค่อนข้างมากอยู่แล้ว แต่อีกนัยหนึ่ง ไทยอาจได้อานิสงส์โดยอ้อมจากการเติบโตของกิจกรรมทางเศรษฐกิจใน สปป.ลาว ที่จะคึกคักมากขึ้นนับจากนี้ จากการผ่อนปรนกฎระเบียบให้เอื้อต่อการประกอบธุรกิจ โดยเฉพาะชักจูงนักลงทุนรายใหม่นอกเหนือจากอาเซียนเข้ามาในประเทศมากขึ้น อย่างไรก็ดี คู่แข่งการลงทุนที่สำคัญของไทยใน สปป.ลาว ก็ยังคงเป็นเวียดนามและจีนที่จะทวีความเข้มข้นมากขึ้นในระยะข้างหน้า
ที่มา : บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย