ตลาดข้าวโลกในปัจจุบัน (มิถุนายน 2553)
ขณะนี้ ประเทศต่างๆ ผลิตและบริโภคข้าวประมาณ 430 ล้านตัน/ปี แต่ส่วนใหญ่เป็นการผลิตและบริโภคภายในประเทศ ปริมาณข้าวที่เหลือสำหรับขายระหว่างประเทศอยู่ที่ประมาณ 29-30 ล้านตัน/ปี ประเทศที่ผลิตข้าวเป็นดับ 1 คือจีน (ประมาณ 130 ล้านตัน/ปี) และอันดับ 2 คืออินเดีย (ประมาณ 80-90 ล้านตัน/ปี) ส่วนไทยผลิตข้าวมากเป็นอันดับ 6 (ประมาณ 19 ล้านตัน/ปี) แต่เป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของโลก ส่วนคู่แข่งที่สำคัญของไทยมีหลายประเทศเช่น เวียดนาม บราซิล โดยขณะนี้ เวียดนามสามารถผลิตข้าวได้มากกว่าไทย (ประมาณ 24 ล้านตัน/ปี) และสามารถส่งออกข้าวเป็นอันดับสองของโลก ในขณะที่ประเทศที่นำเข้าข้าวที่สูงที่สุดคือฟิลิปปินส์และไนจีเรีย โดยทั้งสองประเทศนำเข้าข้าวในปี 2552 กว่า 2 ล้านตัน
การส่งออกข้าวของไทย
ข้าวที่ไทยส่งออกนั้น มีหลายชนิด ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมการบริโภคข้าวของประเทศนั้นๆ เช่น ไนจีเรีย เบนิน แอฟริกาใต้ บริโภคข้าวนึ่ง ฟิลิปปินส์ บริโภคข้าวขาว ญี่ปุ่น บริโภคข้าวขาว 100%และส่วนตลาดพรีเมี่ยมคือข้าวหอมมะลิ จะส่งไปยังสหรัฐอเมริกา เป็นต้น
ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2553 ไทยส่งออกข้าวลดลงร้อยละ 5.86 โดยมีสาเหตุสำคัญคือ
1. ต้นทุนการผลิตของไทยสูง ทำให้ราคาข้าวของไทยค่อนข้างสูงกว่าราคาจากประเทศคู่แข่ง
2. การอ่อนค่าลงของเงินยูโร ซึ่งเป็นเงินที่ผู้ค้าระหว่างประเทศใช้เป็นสื่อกลาง ทำให้ราคาข้าวแพงขึ้น เมื่อเทียบกับธัญพืชอื่น ๆ เช่น ข้าวโพด หรือข้าวสาลี ที่ราคาในตลาดโลกขณะนี้ถูกมาก ผู้ค้าจึงหันไปค้าขายพืชชนิดอื่น ๆ ทีเป็นสินค้าทดแทนของข้าวแทน
3. ข้าวเป็นสินค้าการเมืองของหลายประเทศ จึงทำให้โครงสร้างการนำเข้าข้าวไม่ได้อยู่ที่กลไกราคาหรือคุณภาพ แต่เกิดจากความสัมพันธ์ทางการเมือง และสำหรับประเทศผู้นำเข้ารายใหญ่หลายประเทศ เช่น ฟิลิปปินส์ ไทยไม่สามารถเจาะ “ช่องทางพิเศษ”ดังกล่าวได้
จุดอ่อนและจุดแข็งของประเทศไทยในการส่งออกข้าว
จุดแข็งของประเทศไทย
|
จุดอ่อนของประเทศไทย
|
1.ชื่อเสียงของประเทศไทยในการส่งออกอาหาร จนได้ชื่อว่าเป็น “ครัวของโลก” | 1.ปลูกข้าวมากเกินไปเพราะรัฐมีมาตรการ ช่วยเหลือกษตรกรตลอดเวลา |
2.ข้าวมีคุณภาพดี | 2.มีผลผลิตต่อไร่ต่ำ ทำให้ต้นทุนสูง |
3.มีขั้นตอนการผลิตที่ครบวงจรและเข้มแข็ง | 3.ขาดการทำนาขนาดใหญ่ จึงทำให้การผลิตไม่ได้การประหยัดต่อขนาด(economy of scale) |
4. สภาพอากาศ/ความหลากหลายของพันธุ์ข้าว/ประสบการณ์การค้าข้าวที่ยาวนาน | 4.ไม่มียุทธศาสตร์ในด้านการผลิตและการส่งออกระยะยาว |
5.การบริการที่ดี ซื่อตรงต่อผู้ค้า | 5.การทุจริตของภาครัฐ (เช่น เรื่องการบริหาร สต๊อกข้าว) |
6.สามารถปรับตัวได้กับทุกมาตรฐานสุขภาพที่มีการกำหนดขึ้น |
คู่แข่งที่สำคัญของไทย
ประเทศที่เป็นคู่แข่งสำคัญในการส่งออกข้าวของไทยในตอนนี้คือ เวียดนาม โดยในปี 2552 ไทยผลิตข้าวได้ 31.65 ล้านตัน (เวียดนาม 38.90 ล้านตัน) ในขณะที่ไทยมีความสามารถในการผลิต 474 กิโลกรัมต่อไร่ (เวียดนาม837 กก./ไร่) ทำให้ราคาข้าวไทยอยู่ทีประมาณ 6,575 –8,715 บาท / ตัน (เวียดนาม 3,960 บาท/ตัน)
สำหรับโครงสร้างการส่งออกข้าวคือ ไทยส่งออกข้าวขาวประมาณ 2.3 ล้านตัน (เวียดนาม 5.3 ล้านตัน) ข้าวหอม 2.6 ล้านตัน (เวียดนาม 2.6 แสนตัน) ข้าวนึ่ง 2.8 ล้านตัน (เวียดนามไม่ส่งออกข้าวประเภทนี้) โดยระหว่างปี 2548 –2552 ไทยส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 31 (เวียดนามร้อยละ 76.5)
นอกจากนี้ ในอนาคตอันใกล้ ไทยยังมีคู่แข่งสำคัญคืออินเดีย ซึ่งขณะนี้งดการส่งออกข้าว ด้วยเหตุผลเพื่อการบริโภคภายในและเก็บสต๊อกเพื่อความปลอดภัยทางอาหาร ทำให้ไทยครองตลาดข้าวนึ่งในแอฟริกา แต่หากอินเดียเปลี่ยนนโยบายดังกล่าว ตลาดข้าวนึ่งไทยอาจลดลงกว่าร้อยละ 50เนื่องจากข้าวนึ่งจากประเทศอินเดียมีต้นทุนการผลิตและราคาขายต่ำกว่าไทย แม้ว่าคุณภาพจะด้อยกว่า แต่ก็เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคเพราะราคาถูก
นอกจากนี้ พม่าก็เป็นคู่แข่งที่ควรจับตามอง เนื่องจากในปี 2552 สามารถส่งออกได้ถึง 1 ล้านตัน ทำให้พม่าเริ่มตื่นตัวในการสนับสนุนการส่งออกดังกล่าว และพื้นที่ในพม่ามีการชลประทานธรรมชาติที่ดี อีกทั้งในอดีต พม่าเคยเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของโลกมาแล้ว
ความเสี่ยงในอนาคตของการส่งออกข้าวไทย
- นโยบายการส่งออก/ห้ามส่งออกข้าวของอินเดีย ซึ่งจะมีผลอย่างมากในตลาดแอฟริกา
- การพัฒนาการผลิตของเวียดนาม ซึ่งหากในอนาคตเวียดนามสามารถผลิตข้าวหอมคุณภาพดีและข้าวนี่งได้ เวียดนามก็จะมาเป็นคู่แข่งที่สำคัญของไทยในตลาดนี้ด้วย
- ขณะนี้ หลายประเทศที่ไม่เคยผลิตข้าว เริ่มผลิตข้าวเพื่อการบริโภค หลังจากเกิดภาวะข้าวแพงเป็นประวัติการณ์ในปี 2551
- การขาดยุทธศาสตร์การผลิตและส่งออกข้าวเมื่อเทียบกับคู่แข่งที่มีนโยบายค่อนข้างชัดเจน
- สภาวะโลกร้อนหรือภัยธรรมชาติ อาจทำให้ผลผลิตข้าวไม่แน่นอนในอนาคต
ดังนั้น สิ่งที่ไทยอาจต้องตั้งคำถามว่าไทยจะวางแผนอุตสาหกรรมนี้ไว้อย่างไร โดยอาจมีทางเลือกคือ
1) การยังคงเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของโลก ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าจะเป็นไปได้ เนื่องจากอนาคตก็จะมีคู่แข่งมากมาย
2) การหาตลาดเฉพาะ (niche market) เช่น ตลาดข้าวชั้นดีหรือข้าวพรีเมี่ยม แต่ยอดการส่งออกก็จะไม่ใช่ปีละ 8-9 ล้านตันเช่นปัจจุบัน ซึ่งก็อาจเป็นสิ่งที่ผู้กำหนดนโยบายรับไม่ได้
3) ปล่อยให้กลไกตลาดทำงานไปเรื่อย ๆ และเป็นผู้ตัดสินว่าไทยควรอยู่จุดไหนในตลาดโลก
ที่มา : คุณกอบสุข เอียมสุรีย์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย วันที่ 15 มิถุนายน 2553