ความแตกต่างระหว่าง EU กับ AEC

ในหลายการประชุมที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็น ผู้ประกอบธุรกิจได้มองหาสูตรสำเร็จในการปรับโครงสร้างองค์กร เพื่อรองรับการรวมกลุ่มเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียน AEC ซึ่งจะมาถึงในอนาคตอันใกล้เพื่อจะตอบคำถาม สหภาพยุโรปดูเหมือนจะเป็นแม่แบบของการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ ทั้งในเชิงความแข็งแกร่งในภูมิภาค และบทบาทที่เพิ่มขึ้นในระบบเศรษฐกิจโลก จนถึงปัญหาวิกฤติหนี้ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งหลายสำนักเชื่อว่า ระบบเงินสกุลเดียวกันเป็นหนึ่งในสาเหตุ แม้ภูมิภาคอาเซียนจะมีบริบทที่ต่างจากสหภาพยุโรปตั้งแต่รูปแบบการรวมตัว จนถึงความลึกและลักษณะแวดล้อมต่างๆ แต่ก็ได้เรียนรู้จากบทเรียนดังกล่าวและพร้อมปรับใช้กับ AEC ดัง จะเห็นถึงแนวทางชัดเจนว่าเราจะไม่ใช้เงินสกุลเดียวร่วมกันแบบเงินยูโรในอนาคตอันใกล้นี้แน่นอน

วิธีการทำอาชีพอิสระ

ส่วนแนวทางการรวมตัวนั้น สภาพยุโรปมีลักษณะค่อนข้างบังคับ ในขณะที่อาเซียนอาศัยความร่วมมือเป็นหลัก ผลที่ตามมาก็คือ ความรวดเร็วในการดำเนินการที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ สหภาพยุโรปมีเจตนาของการก่อตั้งองค์กรในรูปแบบองค์กรระหว่างประเทศเหนือรัฐมาตั้งแต่เริ่มแรก กล่าวคือมี Supra-National Authority ที่มีอำนาจในการตัดสินใจแทนรัฐสมาชิกภายในขอบอำนาจและมีผลผูกพันรัฐสมาชิก ซึ่งส่งผลให้เกิดความเป็นเอกภาพระหว่างรัฐสมาชิกด้วยกันและสามารถขับเคลื่อนองค์กรไปได้อย่างสะดวก

ขณะที่โครงสร้างการทำงานของอาเซียน เป็นแบบ Intergovernmental Method ซึ่งแต่ละรัฐมีฐานะเท่าเทียมกัน และทรงไว้ซึ่งอำนาจอธิปไตย การตัดสินใจและการขับเคลื่อนองค์กรจึงเป็นไปได้ช้า แม้จะมีแนวคิดพยายามพัฒนาองค์กรให้เป็นองค์กรเหนือรัฐ แต่ก็ไม่มีความชัดเจน เป็นเพียงการแสดงเจตนาว่า จะปรับเปลี่ยนรูปแบบเท่านั้น ขาดแนวทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมที่ชัดเจนขณะที่ขอบเขตและลักษณะต่างๆ ซึ่งเป็นปัจจัยเชิงตลาดที่แตกต่างจากสหภาพยุโรป จะยิ่งส่งผลต่อความรวดเร็ว และความสำเร็จในการรวมกลุ่มเศรษฐกิจ ตัวอย่างเช่น อาเซียนไม่ได้มุ่งเป็นสหภาพศุลกากร (Customs Union) ที่จะใช้อัตราภาษีนำเข้าเท่ากันกับ ประเทศภายนอกกลุ่ม ก็ยังส่งผลให้ไม่เป็นหนึ่งเดียวกันซะทีเดียว และยังทำให้ต้องมีการทำข้อตกลงกับประเทศนอกกลุ่มแยกกันไปอยู่ดี

ส่วนของปัจจัยเชิงตลาด แง่มุมที่เห็นได้ชัดเจน คือ การค้าระหว่างประเทศอาเซียนด้วยกันเองนั้น มีสัดส่วนเพียง 25% ขณะที่ของสหภาพยุโรป ก่อนกลายเป็นตลาดเดียวกันอยู่ที่ประมาณ 55% และเพิ่มขึ้นอีกเป็น 65% เมื่อรวมตัวกัน สถิติดังกล่าวช่วยให้เห็น ข้อเท็จจริงประการหนึ่งว่า ตลาดของธุรกิจในอาเซียน อยู่นอกภูมิภาคมากกว่า ซึ่งเป็นอีกปัจจัยหนึ่ง ที่ทำให้ประเทศต่างๆ ไม่เร่งรัดการเปิดเสรีและรวมกลุ่มระหว่างกันมากนัก ส่วนหนึ่งอาจเริ่มเห็นได้จากการที่หลายประเทศกลับใช้มาตรการที่มิใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers) มากขึ้นหลังจากที่ภาษีนำเข้าลดลงเหลือ 0% ไปแล้ว สหภาพยุโรปใช้เวลาถึง 25 ปีก่อนที่จะเรียกว่าเป็นเขตการค้าเสรีอย่างแท้จริงที่การค้าขายระหว่างสมาชิก ดังนั้นจึงเชื่อว่า กระบวนการศุลกากรที่อาเซียนพยายามไปถึง คงทำได้ไม่รวดเร็วนัก

ดังนั้นไม่ว่าความลึกของการรวมตัวจะอยู่ที่ระดับไหน สิ่งหนึ่งที่ธุรกิจต้องเผชิญเหมือนกันจาก การเปิดเสรีคือการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น เพราะการกลายเป็นตลาดเดียวกันของทุกประเทศในภูมิภาค เสมือนเค้กชิ้นใหญ่ขึ้นที่ธุรกิจจะพยายามขยาย และเพิ่มส่วนแบ่งตลาดให้มากที่สุด แม้แต่ตลาดที่ตนเองเคยครอบครองอยู่ในประเทศ ก็อาจจะมีธุรกิจจากประเทศอื่นในอาเซียนเข้ามาแย่งชิงตลาดไปได้ ในสภาวะแวดล้อมทางธุรกิจที่มีอุปสรรค และมาตรการปกป้องน้อยลง และเอื้ออำนวยการค้าขายขนส่งข้ามแดนมากขึ้น

สิ่งที่เกิดขึ้นกับบริษัทชั้นนำในยุโรป อาจสะท้อนให้เห็นสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นในทานองเดียวกันในอาเซียน โดยบริษัทชั้นนำในยุโรปหันมาเน้นธุรกิจหลักที่ถนัดมากขึ้นจากเดิมที่ทำธุรกิจหลายๆ สาขา และขยายการลงทุนไปยังประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเพิ่มขึ้น กล่าวคือธุรกิจในยุโรป ลดต้นทุนด้วยการมุ่งเน้นธุรกิจหลักที่ตนเองได้เปรียบ และใช้ประโยชน์ด้านการประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale) และการกลายเป็นตลาดเดียวกันในการขยายธุรกิจไปในประเทศต่างๆ ในกลุ่ม โดยในช่วงปี 1987-2000 บริษัทชั้นนำใน ยุโรปมีความหลากหลายของธุรกิจที่ดำเนินการน้อยลงจากเฉลี่ย 5 สาขาธุรกิจเหลือประมาณ 3 สาขาธุรกิจ แต่ขยายการลงทุนไปยังประเทศสมาชิกเพิ่มขึ้นจากเฉลี่ยเพียง 3 ประเทศเป็น 6 ประเทศ

ส่วนประเทศไทยปัจจุบัน บริษัทชั้นนำ 15 ลำดับแรกดำเนินกิจการโดยเฉลี่ยใน 3 สาขาธุรกิจและมีการลงทุนในประเทศสมาชิกอาเซียน 4 ประเทศ เชื่อว่าเทรนด์ของการปรับโครงสร้างองค์กรน่าจะสอดคล้องกับลดต้นทุนด้วยการมุ่งเน้นธุรกิจหลักที่ตนเองได้เปรียบ แต่ขยายการลงทุนในกลุ่มประเทศสมาชิกด้วยกันมากขึ้น

นอกจากนั้น กลยุทธ์ที่บริษัทในยุโรปนำมาใช้และประสบความสำเร็จในการเป็นผู้นำตลาด คือ การให้ความสำคัญกับการวิจัยพัฒนา และการทำการโฆษณา โดยพบว่าผลผลิตของ 5 บริษัทอันดับแรกที่เน้นให้ความสำคัญกับ การวิจัยพัฒนาและการโฆษณานั้นมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 30% ก่อนที่ยุโรปจะเป็นตลาด เดียวกันเป็น 45% หลังจากเป็นตลาดเดียวกันแล้ว ซึ่งยิ่งแสดงให้เห็นว่า บริษัทขนาดใหญ่มีอำนาจและส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากการใช้กลยุทธ์ดังกล่าว โดยเฉพาะการโฆษณาที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากการขยายตลาดไปในประเทศภูมิภาคนั้นการสื่อสารให้ผู้บริโภค รู้จักผลิตภัณฑ์เป็นเรื่องที่สำคัญ การแข่งขันทางธุรกิจที่เพิ่มขึ้นจาก AEC ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับธุรกิจไทยนัก เพราะเศรษฐกิจไทยมีการเปิดกว้าง และเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจนอกประเทศมานานแล้ว เพียงแต่ AEC มีรายละเอียดของกฎเกณฑ์ ระเบียบ และมีกำหนดการที่ชัดเจนและเอื้อให้การทำธุรกรรมการค้า การลงทุนในภูมิภาคเป็นไปได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้การแข่งขันที่สูงขึ้น ในทางหนึ่งธุรกิจจำเป็นต้องมีอาวุธที่จะสร้างข้อได้เปรียบ และทำให้แข่งขันได้ในตลาดที่ใหญ่ขึ้น ซึ่งนั่นหมายถึง การค้นหาตัวเองว่า เราเก่งอะไร ขณะเดียวกันต้องศึกษาหาความรู้ ทั้งกฎเกณฑ์และระเบียบที่เปลี่ยนแปลงไป รวมไปถึงการดูว่า โอกาสทางธุรกิจ อยู่ตรงไหน คู่แข่งและคู่ค้ามีจุดอ่อนจุดแข็งอะไรบ้าง โดยเฉพาะความเสี่ยงที่ตามมาจากการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจที่เพิ่มมากขึ้น

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ / เขียนโดย ดร.สุทธาภา อมรวิวัฒน์ (ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์)