ผลกระทบของประชาคมอาเซียนต่อธุรกิจไทย และกลยุทธ์ในการตั้งรับ

เมื่อประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ประเทศไทยจะได้รับผลประโยชน์ในทางบวกหรือผลดีที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ซึ่งเป็นสิ่งที่คนไทยเน้นย้ากันเป็นพิเศษ จะมีดังนี้ คือ

ผลกระทบในทางบวกต่อประเทศไทย

ประการแรก ก็คือ จะมีตลาดสินค้าและบริการที่ใหญ่ขึ้น นักธุรกิจไทยจะมีตลาดการค้าที่ใหญ่ขึ้น เพราะมีประชากรเพิ่มขึ้นเป็น 580 ล้านคน เพราะทั้ง 10 ประเทศนี้ต่างก็มีจำนวนมหาศาลพอสมควร โดยเฉพาะอินโดนีเซีย ซึ่งมีประชากรประมาณ 220 ล้านคน บวกกับ ฟิลิปปินส์ ประมาณ 87 ล้านคน เวียดนาม 84 ล้านคน ไทยอีกประมาณ 63 ล้านคน เหล่านี้เป็นต้น นับว่าจะการเพิ่มโอกาสทางการค้าเนื่องจากมีขนาดตลาดที่ใหญ่โตขึ้น และจะเอื้อให้การผลิตในลักษณะที่ผลิตมากขึ้นต้นทุนต่ำลงย่อมมีโอกาสมากขึ้นด้วย (Economies of Scale) แต่ทั้งนั้นทั้งนี้ แต่ละประเทศก็ต้องออกแรงขยันหาตลาดและมีกลยุทธ์ที่เหมาะสมในการหาลูกค้าเช่นกัน

กลยุทธ์ในด้านการตลาดการหาลูกค้าจะต้องทบทวนกันใหม่ เพราะลูกค้าใหม่ที่จะเข้ามาในประเทศย่อมนำกลยุทธ์ที่เขาเคยประสบความสำเร็จหรือเหนือกว่าเราออกมาใช้และจะมีการนำวัฒนธรรมในการบริโภคสินค้าเข้ามาให้นักการตลาดของเราได้เรียนรู้เพิ่มมากขึ้นจากเดิม เราต้องเรียนรู้พฤติกรรมการบริโภคสินค้าและบริการตลอดจนลูกเล่นทางการค้าของเขา รวมทั้งความเชื่อต่างๆ การปรับตัวของธุรกิจภายในประเทศจะต้องทันต่อเหตุการณ์และสภาพของตลาดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ใครปรับตัวหรือมีการเตรียมการที่ดีย่อมได้ผลในทางบวกแต่ในทางตรงกันข้ามหากพ่อค้าของเราปรับตัวช้า จะสูญเสียโอกาสและอาจจะสูญเสียฐานของลูกค้าเดิมไปด้วยเช่นกัน

ประการที่สอง ประเทศไทยจะได้อานิสงส์ ในการที่จะกลายมาเป็นเป้าหมายในการดึงดูดการลงทุน เงินลงทุน จากต่างประเทศได้มากขึ้นเพราะต่อไปนี้การขยายการลงทุนจากต่างประเทศมาไทยจะกระทำได้ง่ายขึ้น หากเป็นไปตามข้อตกลงที่ได้ตกลงกันไว้ และประเทศไทยได้เปรียบประเทศอื่นๆ หลายประการโดยเฉพาะทัศนคติของคนไทยที่มีต่อนักลงทุนชาวต่างชาตินั้นดีมาก แม้ว่าบางครั้งการลงทุนของต่างชาติมาลงทุนในประเทศไทยไม่ได้ก่อให้เกิดราย ได้แก่ ชุมชน การจ้างงาน หรือการนำเทคโนโลยีมาช่วยประเทศไทยเลย แต่คนไทยก็ไม่เคยรังเกียจนักลงทุนเหล่านี้ เหมือนดังประเทศอื่น อีกทั้งระเบียบกฎเกณฑ์ด้านการลงทุน ประเทศไทยอาจกล่าวได้ว่าเปิดโอกาสมากกว่าหลายๆ ประเทศในภูมิภาคนี้ แม้กระทั่งหากเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาวหรือพม่า เป็นต้น

กลยุทธ์ในด้านการลงทุนและการเงิน ของประเทศไทยจำเป็นที่จะต้องพัฒนาให้ทันกาลการเข้ามาของต่างชาติ การเปิดเสรีมากเกินไปนอกจากจะทำให้ฐานะของประเทศไทยเกิดความเสี่ยงมากขึ้นแล้ว ไทยจะไม่สามารถหาประโยชน์ได้มากเหมือนแต่ก่อนที่ยังไม่เปิดเสรีในด้านนี้ กฎหมายหรือกฎเกณฑ์ต่างๆ ของภาครัฐด้านการลงทุนและการเงินจะต้องรื้อปรับระบบกันใหม่ (Reengineering) ในขณะนี้ ทั้งนี้ เพื่อให้ประเทศได้รับผลดีอย่างเต็มที่และต้องหามาตรการในการลดความเสี่ยงในด้านการลงทุนและการเงิน ทุกรูปแบบ แต่มิใช่เป็นการสกัดกั้นอย่างมีอคติต่อนักลงทุนชาวต่างชาติเช่นกัน ทั้งนี้ รวมทั้งกฎหมายที่ว่าด้วยการถือครองอสังหาริมทรัพย์เช่น ที่ดินเป็นต้น มิฉะนั้นแล้ววันข้างหน้าคนไทยจะไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง ธุรกิจก็เป็นธุรกิจของต่างชาติที่เข้ามามีบทบาททำให้ธุรกิจท้องถิ่นที่มีมาแต่ช้านานสูญหายไปหมด โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของไทย

ประการที่สาม การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนสามารถทำให้ประเทศไทยมีอำนาจในการเจรจาต่อรองต่อเวทีโลกได้มากขึ้น เพราะต่อไปนี้จะมีฐานประชาคมอาเซียนสนับสนุนอยู่และไม่ใช่ไปแบบโดดเดี่ยวเหมือนเมื่อก่อน ซึ่งสามารถทำให้ประเทศคู่ค้าต้องรับฟังมากขึ้น เพราะดีไม่ดีอาจจะไปกระทบกับประชาคมอาเซียนไปด้วย เนื่องจากประเทศไทยเป็นสมาชิกของประชาคมประเทศหนึ่ง

วิธีการทำอาชีพอิสระ

กลยุทธ์ที่จะช่วยได้อาจเป็นไปในรูปการสร้างและการขยายเครือข่ายโดยมีพันธมิตรคู่ค้าที่เป็นนักลงทุนต่างชาติในกลุ่มอาเซียนเพื่อจะเป็นฐานหรือตัวช่วยในการเจรจาต่อรองมากขึ้น ทั้งนี้ โดยอยู่บนพื้นฐานของความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ผลประโยชน์ร่วมกันและภายใต้ความเป็นธรรมและเสมอภาค รวมทั้งการเรียนรู้เทคนิคในการเจรจาต่อรองในรูปแบบต่างๆ ที่สอดคล้องต่อประเพณีและวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ

ประการที่สี่ การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนจะทำให้นักธุรกิจไทย และผู้ที่เกี่ยวข้องด้านเศรษฐกิจและการค้ามีโอกาสในการพัฒนาศักยภาพของธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องให้ดีขึ้นจากเดิม เพื่อการรองรับการแข่งขัน และสามารถนำมาซึ่งเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่พร้อมจะออกไปเพื่อการแข่งขัน รวมทั้งประเทศไทยสามารถเรียนรู้เทคนิคด้านต่างๆ ของประเทศในกลุ่มนี้มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นด้าน การผลิต การตลาด การขนส่งและโลจิสติกส์ การจัดการ การเจรจาต่อรอง การเงิน การท่องเที่ยว การเดินอากาศ และอื่นๆ

กลยุทธ์ที่เหมาะสมในประเด็นนี้ ก็คือ เราต้องหาเทคโนโลยีในการพัฒนาคุณภาพของสินค้าและบริการให้ดำรงความเหนือกว่าให้ได้ การลงทุนพัฒนาและการวิจัยในด้านเทคโนโลยีของธุรกิจและอุตสาหกรรมต่างๆ เป็นสิ่งจำเป็นและเป็นหนทางในการอยู่รอดและสร้างความได้เปรียบในด้านการแข่งขัน ภาครัฐต้องเห็นความสำคัญของการวิจัยและพัฒนาในด้านการผลิตและการบริการและต้องมาช่วยภาคเอกชนในทุกวิถีทาง เพราะหากปล่อยให้ภาคเอกชนกระทำการแต่เพียงฝ่ายเดียวจะไม่ประสบความสำเร็จในระยะยาว เนื่องจากขาดงบประมาณและความร่วมมือของหน่วยงานราชการ การสร้างนวัตกรรมของประเทศไทยจะเป็นตัวจักรสำคัญในการสร้างความแตกต่างและความยั่งยืนของอุตสาหกรรมไทยในวันข้างหน้าเมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

ประการที่ห้า จะมีผลต่อการจ้างแรงงานเพราะสามารถเข้าโรงงานอุตสาหกรรมที่ให้ค่าจ้างแรงงานที่สูงกว่าเดิม รวมทั้งการออกไปหารายได้เพิ่มขึ้นจากค่าแรงงานในกลุ่มประเทศอาเซียน ส่วนสถานประกอบการสามารถที่จะสร้างรายได้ของสถานประกอบการให้มากขึ้นจากการขยายตลาดและการเพิ่มปริมาณลูกค้ามากขึ้น และในที่สุด ก็จะมีผลต่อรายได้ที่จะทำให้คุณภาพชีวิตของคนในสังคมไทยดีขึ้นรวมทั้งการได้รับสินค้าและการบริการที่ดีขึ้นหรือมีตัวเลือกและทางเลือกมากขึ้นจากเดิม

กลยุทธ์ที่เหมาะสมในประเด็นนี้ ก็คือ การเพิ่มทักษะในด้านภาษาท้องถิ่นของแต่ละประเทศนอกเหนือจากภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น ที่เคยมีมาแต่ก่อน แต่จำเป็นที่จะต้องมีการเรียนการสอนด้านภาษามาเลย์ ภาษาเวียดนาม ภาษาเขมร ลาว และภาษาพม่าให้มากขึ้นกว่าแต่ก่อน ในประเด็นนี้ผู้เขียนได้ทราบว่าประเทศมาเลเซียได้มีการเรียนการสอนภาษาไทยกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบันเพื่อการรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนโดยเฉพาะ ดังนั้น ภาครัฐไม่ว่าจะเป็นระดับประถม มัธยม สายวิชาชีพ หรือแม้กระทั่งระดับอุดมศึกษาก็น่าที่จะมีการปรับตัวเตรียมการกันได้แล้ว เพราะเรื่องของภาษาเป็นเรื่องของการใช้เวลาและการฝึกหัดที่ต้องกินเวลาพอสมควรเพื่อให้ได้ผลดี ในส่วนการศึกษาของภาคเอกชนโดยเฉพาะสถานศึกษาภาคเอกชนก็ควรปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนเพื่อเตรียมการผลิตนักเรียน นิสิต นักศึกษาที่มีความพร้อมในด้านนี้ออกไปเช่นกัน

ประการที่หก เมื่อประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ก็เท่ากับว่าต่อไปนี้จะมีการปรับปรุงแรงงานฝีมือในสาขาวิชาชีพต่างๆ (7 วิชาชีพ) ให้เท่าเทียมนานาประเทศ สาขาวิชาชีพเหล่านี้ ได้แก่ วิศวกร แพทย์ พยาบาล นักบัญชี นักสำรวจ ทันตแพทย์ และผู้ประกอบวิชาชีพ สถาปนิก เพราะสาขาวิชาชีพเหล่านี้เป็นสาขาวิชาชีพหน้าด่านของไทยที่มีความพร้อมสูง มีสมาคมและการรวมตัวที่มีประสิทธิภาพเป็นที่ประจักษ์ และเป็นสมาคมที่ประชาคมอาเซียนได้ยกมาเป็นกลุ่มแรกของไทยที่จะมีการวางกฎเกณฑ์ข้อบังคับต่างๆ หากจะมีคนในประเทศสมาชิกเข้ามาทำงานในกลุ่มวิชาชีพทั้งเจ็ดนี้ในไทย แต่ในทางกลับกันหากคนไทยที่ทำงานในกลุ่มวิชาชีพเหล่านี้ยังไม่พร้อมในการปรับตัว ปัญหาก็จะตกมาสู่พวกเขาเช่นกัน ในประเด็นนี้ข้อสรุป ก็คือ การเปิดให้ผู้ประกอบอาชีพที่มีคุณสมบัติตามที่คณะกรรมการประสานงานวิชาชีพสาขาต่างๆ ทั้ง 7 สาขา (ASEAN Joint Coordinating Committee) และหน่วยงานที่กำกับดูแลวิชาชีพหรือองค์การระดับประเทศสมาชิกต่างๆ หรือสภาวิชาชีพ (Professional Regulatory Authority) หรือกระทรวง/องค์การที่เกี่ยวข้องของประเทศสมาชิก ขึ้นทะเบียนหรือออกใบอนุญาตให้ผู้ประกอบวิชาชีพชาวต่างชาติเข้ามาประกอบวิชาชีพในประเทศอาเซียนได้ โดยต้องปฏิบัติตามกฎและระเบียบภายในประเทศนั้นๆ ในทำนองกลับกันหากคนไทยที่ประกอบวิชาชีพเหล่านี้ ก็สามารถที่จะไปทำงานยังประเทศอื่นที่มีค่าจ้างแรงงานที่สูงกว่าได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการไทย หรือแรงงานไทยก็จะมีโอกาสออกไปลงทุนหรือทำงานในต่างประเทศมากขึ้น และได้รับค่าตอบแทนที่สูงจากเดิม

กลยุทธ์ที่ควรนำมาพิจารณาในประเด็นนี้ น่าจะเป็นเรื่องที่จะทำอย่างไรให้ความรู้ในด้านภาษาของคนในกลุ่มวิชาชีพเหล่านี้สามารถพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว สามารถสื่อสารได้หลายภาษามากขึ้นจากแต่เดิม รวมทั้งเทคนิคและวิธีการใหม่ๆ ในการประกอบอาชีพในด้านนั้นๆ ที่จะต้องนำมาเสริมเพิ่มเติมความรู้ให้มากขึ้นจากเดิม รวมทั้งกลยุทธ์ในด้านการบริหารทรัพยากรมนุษย์ที่หาหนทางจูงใจให้คนดีและคนเก่งอยู่ในองค์การของเราให้นานที่สุด ศาสตร์ในด้านการรักษาทรัพยากรมนุษย์ที่ทรงคุณค่าไว้ในองค์การหรือ Talent Management ควรจะถูกหยิบยกมาพิจารณาและให้ความสำคัญมากขึ้น มิฉะนั้น จะเกิดเหตุการณ์สมองไหลไปสู่องค์การของต่างชาติทั้งในและนอกประเทศไทยกันหมด

ประการที่เจ็ด ประเทศไทยสามารถอาศัยความร่วมมือช่วยเหลือกันในภาคเศรษฐกิจหรือ AEC นี้ เข้าไปเสริมสร้างความสัมพันธ์ในด้านการเมือง การปกครองการป้องกันประเทศให้ดีขึ้น เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติและลดข้อขัดแย้งต่างๆ กับประเทศเพื่อนบ้านของไทย ไม่ว่าจะเป็น พม่า กัมพูชา หรือประเทศอื่นๆ โดยผ่านความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนเป็นหัวหอกเหมือนที่เคยเป็นมาในอดีตและจะช่วยให้ด้านอื่นๆ มีสัมพันธภาพอันดีตามมาในที่สุด

กลยุทธ์ที่เหมาะสมคือการเรียนรู้และการปรับตัวโดยอาศัยการศึกษาและการเรียนรู้เกี่ยวกับการจัดการวัฒนธรรมข้ามชาติหรือที่เรียกว่า Cross Cultural Management มาเป็นหลักเพื่อให้เกิดการผนึกความร่วมมือร่วมใจ ปรองดองกันระหว่างคนไทยและประเทศเพื่อนบ้านให้อยู่ร่วมกันโดยปราศจากข้อขัดแย้งทางด้าน สังคม เศรษฐกิจและการเมือง

ผลกระทบที่จะเกิดกับธุรกิจไทยจะออกมาในรูปแบบอื่นๆ อีก เช่น

– ประเทศไทยสามารถหาวัตถุดิบ และทรัพยากรทางธรรมชาติจากแหล่งที่มีความอุดมสมบูรณ์แทนการทำลายทรัพยากรภายในประเทศ เรียกได้ว่าไปหามาจากที่อื่นแทนการร่อยหรอของทรัพยากรภายในประเทศไทย ทำให้ไทยมีแหล่งนำเข้าวัตถุดิบจากนานาประเทศมากขึ้น และอาจช่วยในการดำเนินธุรกิจที่ลดต้นทุนในการผลิตและการดำเนินการลงได้ ในประเด็นนี้ การดำเนินกลยุทธ์อะไรก็ตามเหล่านี้ จะต้องดำเนินด้วยความรอบคอบและอยู่ภายใต้ความร่วมมือและผลประโยชน์ร่วมกัน มิฉะนั้น ประเทศไทยจะได้ชื่อว่ามีแต่นักธุรกิจที่ไปทำลายทรัพยากรของประเทศเขาหรือไปกอบโกยผลประโยชน์จากบ้านเขามา

– ประเทศไทยสามารถเกิดการเรียนรู้และการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เรื่องธุรกิจ การค้า การท่องเที่ยว กฎหมาย การลงทุน การเงิน รวมทั้งการเรียนรู้ทางการเมือง สภาพสังคมและวัฒนธรรม เทคโนโลยีจากประเทศสมาชิกประชาคมอาเซียนได้เป็นอย่างดี และที่สำคัญอย่างยิ่งของประเทศไทยในขณะนี้ คือ การเรียนรู้เรื่องการศึกษา การจัดการธุรกิจ การป้องกันปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน รวมทั้ง กลยุทธ์ กลวิธี ทางการค้า และ Business Model ซึ่งในที่นี้หมายถึง วิธีการหาเงินของประเทศต่างๆ ว่าเขาได้มาด้วยวิธีใด และนักธุรกิจ ครูอาจารย์ด้านธุรกิจศึกษาและนักเศรษฐศาสตร์หรือผู้ที่เกี่ยวข้องจะได้นำมาพัฒนาให้ดีขึ้น และช่วยให้คุณภาพชีวิตของสังคมไทยดีขึ้นในวันข้างหน้า

กลยุทธ์ที่เหมาะสมคือการฝึกที่จะเป็นผู้เรียน หรือนักเรียนที่ดีที่คอยสังเกต จดจำ บันทึก ปรับปรุง ทดสอบ รวมทั้งเป็นนักฟังที่มีประสิทธิภาพ(Good Listener) เพื่อการเก็บเกี่ยวประสบการณ์ความรู้เพื่อนำมาปรับปรุงการทำงานของเราให้ดีขึ้นไปจากเดิม

– การเข้าสู่ประชาคมอาเซียน และประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะทำให้เป็นแรงผลักดันให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง องค์การ หรืออุตสาหกรรมต่างๆ ต้องรีบปรับตัว ปรับปรุง พัฒนาตัวเองให้ทันต่อวิถีทางการทำงานของคน องค์การ หรืออุตสาหกรรมของประเทศต่างๆ ในประชาคมอาเซียน อาทิเช่น ครูอาจารย์ วิศวกร แพทย์ พยาบาล นักบัญชี นักสารวจ ทันตแพทย์ สถาปนิก ต้องมีความรู้มากขึ้นจากเดิม ต้องหาความรู้ที่จะมาปิดจุดอ่อนของเราที่ยังด้อยชาติอื่นๆ อาทิเช่น ความรู้ด้านภาษาอังกฤษมาเพิ่มเติม ความรู้เดิมๆ คงไม่สามารถเอามาใช้เพื่อการแข่งขันได้เหมือนเดิม แต่จะต้องขวนขวายหารูปแบบ และวิธีการใหม่ๆ มาใช้ด้วยเช่นกัน นับว่าเป็นโอกาสในการพัฒนา ปรับปรุง หรือแก้ไของค์ความรู้ด้าน เศรษฐศาสตร์ บริหารธุรกิจ การค้าการลงทุน การแพทย์ สถาปัตยกรรม ฯลฯ ให้ทันสมัยและมีความพร้อมมากขึ้นจากเดิม เป็นประโยชน์ต่อวงการศึกษาของไทยในวันข้างหน้า

– นับเป็นโอกาสของบางสาขาวิชาชีพที่จะไปทำงานในกลุ่มประเทศในประชาคมอาเซียนได้ง่ายขึ้น และนี่อาจเป็นหนทางหนึ่งในการขจัดความยากจนของแรงงานไทยภายในประเทศบางคน เนื่องจากเขาสามารถมีรายได้เพิ่มขึ้น จากการเคลื่อนย้ายไปทำงานต่างแดน ดังนั้น กลยุทธ์ที่เหมาะสม ก็คือ การเตรียมตัวแต่เนิ่นๆ อย่ารอให้วันเวลาผ่านไปพยายามสะสมความรู้ประสบการณ์และทักษะมาเพิ่มเติมให้เกิดคุณค่าในตัวตนให้มากขึ้น การเข้ารับการฝึกอบรมในด้านที่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มขีดความสามารถหรือสมรรถนะของตนจะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยให้ประสบความสำเร็จในการทำงานและการสร้างรายได้ให้ได้มากขึ้น

– จากประโยชน์ที่ประเทศไทยจะปรับฐานภาษีให้เท่าเทียมกับประเทศในกลุ่มอาเซียน เพื่อการแข่งขันนั้น จะเท่ากับเป็นการเพิ่มช่องทางการส่งออกของไทยของไทยให้มากขึ้นจากเดิม อันจะทำให้เป็นการหาเงินตราต่างประเทศเข้าไทยได้มากขึ้น ช่วยในการพัฒนาประเทศโดยรวม

– กลยุทธ์ในด้านการหารายได้มาชดเชยส่วนที่ปรับลดลงไปจากน่าจะเป็นสิ่งที่ภาครัฐจะต้องค้นหาวิธีการ เพราะจากการปรับฐานภาษีให้ลดลงมาจากประมาณ 30% ลงมาให้เหลือ 23% ในปี 2555 และจะให้เหลือ 20% ในปี 2556 และ 2557 นั้น รัฐต้องสูญเสียภาษีที่จะนำไปพัฒนาประเทศมากพอสมควร หากไม่คิดหาหนทางที่จะหารายได้มาชดเชยส่วนนี้ รัฐจะลำบากในวันข้างหน้าในการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการลงทุนเพื่อสาธารณประโยชน์และระบบสาธารณูปโภคที่ต้องใช้

ผลกระทบในทางลบต่อประเทศไทย

ประการแรก ที่กล่าวขวัญและกลัวกันมากในขณะนี้ ก็คือ จะมีแรงงานต่างชาติไหลเข้าสู่วิชาชีพ วงการอุตสาหกรรมต่างๆ มากขึ้น และจะมาแย่งแรงงานที่เป็นคนไทยไป ทำให้แรงงานไทยเสียโอกาสในการถูกว่าจ้างลดลง ซึ่งมีหนทางที่จะเกิดขึ้นได้และเป็นไปได้เช่นกัน แต่เราต้องไม่ลืมว่าแรงงานเหล่านั้นมีทักษะเท่าเทียมกับแรงงานไทยหรือไม่ เพราะแรงงานไทยได้ชื่อว่าเป็นแรงงานที่มีทักษะพอสมควร แต่หากแรงงานต่างชาติมีทักษะที่เท่าเทียมกับแรงงานไทยหรือเหนือกว่า เพราะอย่างน้อยด้านภาษาอังกฤษที่เขาเหนือกว่านั้น เราก็คงต้องกำหนดยุทธศาสตร์หรือกลยุทธ์ในการขวนขวายเพิ่มเติมความรู้ด้านนี้ เพื่อมาปิดจุดอ่อนของแรงงานไทยให้มากที่สุด เพียงแต่ว่าขณะนี้ เรามีหน่วยงานใดที่ได้ดำเนินการแล้วหรือยัง ซึ่งคงต้องรีบดำเนินการอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะภาครัฐซึ่งมีสถานศึกษาอยู่ในความดูแลควรจะเป็นหัวหอกหรือแกนนา เพราะเราท่านก็ทราบถึงจุดอ่อนข้อนี้ดี

ประการที่สอง สิ่งที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ คือ ประเทศไทยอาจได้รับสินค้าและการบริการที่ไม่มีคุณภาพมาตรฐาน และไม่มีความปลอดภัยที่เพียงพอทะลักเข้ามาตีตลาด อาทิเช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ บางอย่างซึ่งอาจอาศัยช่องว่างจากการเปลี่ยนแปลงแหล่งที่มาของสินค้าเสียใหม่ ทาทีเป็นว่ามาจากประชาคมอาเซียน แต่อันที่จริงมาจากแหล่งผลิตจากที่อื่น ซึ่งสามารถเข้ามาตีตลาดของไทยได้ง่ายขึ้น และจะทำให้คนไทยต้องบริโภคสินค้าที่ด้อยคุณภาพไปโดยปริยาย เพราะสินค้าเหล่านี้ มักสร้างความแตกต่างด้วยการขายถูกกว่าประเทศอื่นๆ ดังนั้น กลยุทธ์ที่เหมาะสมก็คือเพิ่มประสิทธิภาพหน่วยงานในการควบคุม ดูแล ด้านคุณภาพของสินค้าและบริการให้กระทำการอย่างเข้มงวด เพื่อผลประโยชน์ของสังคมไทยรวมทั้งการรณรงค์ของหน่วยงานภาครัฐให้รู้ถึงรายละเอียดของสินค้าและการบริการที่ได้มาตรฐาน รวมทั้งผลเสียของการใช้สินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานหรือมาจากต่างแดน

ประการที่สาม ทำให้การแข่งขันทางธุรกิจรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะผู้ประกอบการชาวไทย ซึ่งต้องปรับตัวในด้าน การวิจัย และพัฒนาคุณภาพ เทคโนโลยีในการผลิต การจัดการ การฝึกอบรม ฯลฯ ซึ่งจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการลงทุนที่เพิ่มขึ้นจากเดิมและผลสุดท้าย เมื่อมีต้นทุนในการดำเนินงานและการผลิตที่เพิ่มขึ้น ราคาสินค้าก็จะสูงขึ้นจากเดิมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้คนไทยต้องซื้อของแพงขึ้นและจะมีผลกระทบไปถึงภาวะเงินเฟูอได้เช่นกัน

ประการที่สี่ ส่วนแบ่งของตลาดสินค้าที่เคยมีมา อาจต้องสูญเสียแก่นักลงทุนจากต่างชาติ ทำให้เสียลูกค้าเก่า เพราะเดิมมีผู้ค้าไม่มากรายแต่ตอนนี้กลับมีผู้ค้ามากรายขึ้น ซึ่งก็คงจะทำให้ผู้ค้าชาวไทยต้องเหนื่อยมากเป็นพิเศษไปจากเดิม เพื่อการรักษาฐานของผู้บริโภคไว้ และต้องปรับตัวพอสมควร

ประการที่ห้า ผู้บริโภคชาวไทยจะได้รับสินค้าและการบริการที่แปลกใหม่แต่ทำให้สินค้าไทยตัวเดิม โดยเฉพาะสินค้า การเกษตร เช่น ผัก ผลไม้ไทย จะได้รับความเสียหายทันที ทำให้คุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทย ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศแย่ลง เหมือนที่เคยกับผลไม้ของประเทศจีนที่เข้าสู่ประเทศไทย แม้ว่าประเทศไทยจะบอกว่าเราได้ส่งออกไปยังประเทศจีนเช่นกัน แต่ผลได้ผลเสีย เรายังคงเป็นรองอยู่ และเมื่อเกิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเช่นนี้ เราก็คงได้เห็นการบริโภคสินค้าแปลกๆ เกิดขึ้นอีก ทำให้เกิดกระแสการบริโภคสินค้าใหม่จากต่างชาติเกินความจำเป็นและพอเพียงแก่สังคมไทย แต่ละเลยสินค้าที่ผลิตภายในประเทศ และจะมีผลทำให้เกษตรกร ชาวไร่ ชาวนา เดือดร้อนกันตามๆ หากไม่มีการควบคุมดูแลกันให้ดีจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรของไทย นอกจากนี้ จะทำให้รัฐต้องเสียค่าใช้จ่ายงบประมาณเพิ่มขึ้น ในการดูแลผู้ค้า ผู้ส่งออก ผู้นำเข้า ผู้บริโภคชาวไทย โดยจะมีผลกระทบต่อการออกกฎหมาย และระเบียบต่างๆ อันจะทำให้นักธุรกิจไทย พลอยเสียหายหรือได้รับผลกระทบกระเทือนตามไปด้วย และทำให้เกิดความยุ่งยากในการประกอบการมากขึ้น

ประการที่หก การเกิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จะทำให้นักลงทุนชาวไทยหนีไปลงทุนในประเทศอื่น มีผลต่อการจ้างแรงงานไทยภายในประเทศ รวมทั้งการพัฒนาอุตสาหกรรมต่างๆ อาจต้องหยุดชะงักลง ทั้งนี้ เพราะแรงงานไทยขาดแคลน เนื่องจากไปทำงานในต่างประเทศที่ได้ค่าจ้างแรงงานที่สูงกว่า ทำให้เกิดปัญหาแรงงานในประเทศมากขึ้น ในทางกลับกัน เราอาจต้องหาแรงงานต่างด้าวมาทำงานในประเทศไทย รวมทั้งการไปจ้างทำการผลิตในต่างประเทศ ที่มีค่าจ้างแรงงานที่ถูกกว่า (Outsourcing) สามารถกระทำได้ง่ายมากขึ้นเนื่องจากขณะนี้มีความร่วมมือทางเศรษฐกิจกันแล้วระหว่างชาติที่เป็นสมาชิก และหากเหตุการณ์เช่นนี้บานปลายไปเรื่อยๆ

วันหนึ่งข้างหน้าประเทศไทยจะประสบปัญหาเหมือนอย่างที่สหรัฐอเมริกาพบอยู่ในขณะนี้ ซึ่งทำให้คนอเมริกันตกงานหางานทาไม่ได้ เพราะธุรกิจอุตสาหกรรมนิยมไปจ้างแรงงานถูกที่อยู่ในประเทศอื่นดำเนินการแทน และจะเป็นปัญหาระยะยาวของไทยในวันข้างหน้าหากละเลยประเด็นเช่นนี้ไป ดังนั้น ทางออกในประเด็นนี้รัฐอาจต้องพิจารณาเตรียมการเกี่ยวกับกฎหมายและหลักเกณฑ์ในการไปจ้างทาของในประเทศอื่นแทนที่จะกระทำการในประเทศไทย หรือ การกำหนด Outsourcing Regulations ขึ้นมา เพื่อการป้องกันปัญหาไม่ให้นายทุนไปจ้างทำของในประเทศอื่นจนเกินความจำเป็นและทำให้โรงงานในประเทศไม่สามารถเปิดทำงานและแรงงานไม่มีงานทำดังเช่นปกติ ซึ่งสามารถนำไปสู่วิกฤตการณ์การว่างงานในอัตราส่วนที่สูงและเกิดผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม

ประการที่เจ็ด นักลงทุนต่างชาติที่มีความพร้อมมากกว่าจะเข้ามาแข่งขันในทางธุรกิจได้ง่ายขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการชาวไทยที่ส่วนใหญ่ที่มีขนาดเล็กและขนาดกลาง (SMEs) แข่งขันได้ยากและจะสูญหายไปเหมือนดังที่เกิดจากกรณี การเกิดร้านค้าปลีกขนาดใหญ่เข้ามาดำเนินกิจการในประเทศไทย ทำให้ร้านค้าปลีกขนาดเล็กประเภทโชห่วยในท้องถิ่นต้องปิดกิจการลงไปเป็นจำนวนมาก กลยุทธ์ที่จะเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดภาวการณ์เช่นนี้ ก็คือ ผู้ประกอบการจะต้องร่วมมือร่วมใจรวมตัวผนึกกำลังกัน

อย่ากระทำการแต่เพียงลำพังแต่คนเดียวเพราะอาจขาดทรัพยากรหรือทุนดำเนินการ รวมทั้งนาความรู้ด้านการตลาดในการสร้างสัมพันธ์กับลูกค้า (Customer Relations) มาใช้ให้ได้ผล เพราะจะเป็นการรักษาตลาดและลูกค้าของตนเอาไว้ได้

โดยสรุป สิ่งเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบทางบวกหรือผลกระทบทางลบก็ตาม รัฐและองค์การภาคเอกชนและผู้ที่เกี่ยวข้อง จำเป็นต้องหันมาให้ความสนใจกันอย่างจริงจัง และควรรีบหามาตรการคุ้มครองธุรกิจและอุตสาหกรรมของไทย กลยุทธ์หรือยุทธ์ศาสตร์ต่างๆ นอกเหนือจากที่ยกมาเป็นตัวอย่างเพียงเล็กน้อย จะต้องถูกหยิบยกมาเตรียมการและนำมาพิจารณา เพื่อความเหมาะสมที่สามารถรองรับเหตุการณ์เช่นนี้ได้ เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นความมั่นคง เป็นความเป็นความตายของเศรษฐกิจไทย ตลอดจนเป็นการสร้างสมรรถนะความสามารถในด้านการแข่งขัน ซึ่งนับวันประเทศไทยจะได้รับการจัดอันดับที่ตกต่ำไปเรื่อยๆ การปล่อยนิ่งเฉยโดยไม่ดูดายหรือแค่ลมปากที่พูดกันไปวันๆ ของใครก็ตาม ย่อมไม่มีผลดีเกิดขึ้นกับประเทศ เราต้องเริ่มดำเนินการ ร่วมมือกันหาทางออกที่เป็นประโยชน์แก่สังคมไทยกันอย่างจริงจังได้แล้วในเวลานี้ รัฐและองค์การภาคเอกชนและผู้ที่เกี่ยวข้อง จำเป็นต้องหันมาให้ความสนใจกันอย่างจริงจัง และควรรีบหามาตรการคุ้มครองธุรกิจและอุตสาหกรรมของไทย

ที่มา : รศ.ดร. จุฑา เทียนไทย  / นสพ.กรุงเทพธุรกิจ