เกษียณแล้ว เป็นจุดเปลี่ยนที่ยิ่งใหญ่อันหนึ่งในชีวิตคนเราทีเดียว ภารกิจงานประจำที่รัดตัว
รุมเร้าก็จะลดน้อยไปอย่างมากมาย จะมีเหลืออยู่บ้างก็น่าจะเป็นหน้าที่รับผิดชอบที่ไม่หนักหนากินเวลามากนัก ก็น่าจะทำให้เราได้มีเวลาที่จะเลือกทำอะไรในสิ่งที่เราต้องการมากกว่าเดิม
บางท่านก็จะมีเวลาได้ท่องเที่ยวไปตามสถานที่ต่างๆ ที่เคยคิดฝันว่าจะไป บางท่านก็ตัดสินใจลงมือจัดตกแต่งบ้านปรับปรุงที่พักอาศัยตามใจที่ต้องการ บางท่านก็รับอาสาช่วยดูแลหลานๆ ซึ่งอาจจะดูเป็นภาระแต่ผมเห็นคุณปู่คุณย่าหลายๆ ท่านแข็งแรงสดชื่นเพราะได้ดูแลต่อกรกับเจ้าตัวเล็กทั้งหลายก็เยอะนะครับ
ทั้งนี้ทั้งนั้นจะเลือกใช้ชีวิตให้มีความสุข ทำงานหรือไม่ทำงานต่อ ท่องเที่ยวหรืออยู่บ้านก็แล้วแต่ สิ่งที่สำคัญที่สุด 2 อย่างก็คือ กำลังกับปัจจัย
กำลัง หมายถึง สุขภาพร่างกาย วันนี้เราเห็นคนอายุ 60 กว่า 70 มากมายที่เดินตีกอล์ฟ 18 หลุม อาทิตย์ละ 2-3 ครั้ง ขับรถเที่ยวในประเทศกันอยู่ประจำๆ กิจกรรมต่างๆ เหล่านี้คงจะเป็นไปไม่ได้ถ้าสุขภาพของเราไม่แข็งแรง
ปัจจัย ก็คือ เงินที่เก็บออม รายได้จากการลงทุนต่างๆ ที่จะต้องมีเพื่อการดำรงชีวิตประจำวัน ดูแลสุขภาพ และเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ
ดังนั้น ในกรณีของผู้ที่กำลังจะวางแผนเพื่อการเกษียณอย่างแรกที่พวกเราจะให้ความสนใจคือ สุขภาพร่างกาย ใครอายุเกิน 45 ปีแล้วไม่ได้ตรวจสุขภาพมามากกว่า 1 ปีต้องรีบไปตรวจเสียนะครับ สิ่งที่สำคัญที่ตามมาคือ การออกกำลังกาย ถ้าร่างกายไม่แข็งแรงเสียแล้วมีเงินเก็บมากมายแค่ไหนก็คงไม่มีความสุขได้ หลายๆ ท่านขยันเก็บเงินมีเงินเก็บออมทุกๆ เดือนแต่ผัดวันประกันพรุ่งเรื่องออกกำลังกาย อาหารการกินก็ตามใจปากมากเกินไป สุดท้ายจะไม่มีแรงใช้เงินนะครับ
ในส่วนของการวางแผนทางการเงินการออมนั้น ก่อนอื่นก็ต้องเริ่มที่รายจ่ายก่อนว่า หลังเกษียณเราจะใช้ชีวิตแบบไหน มีรายจ่ายต่างๆ เท่าไร อาจจะทำตารางประมาณการขึ้นมาเป็นรายละเอียดประกอบ เช่น
รายเดือน : ค่าอาหาร ค่าน้ำ ค่าไฟ เบ็ดเตล็ด (หนังสือพิมพ์ ค่าก๊าซ ผงซักฟอก internet อื่นๆ) ค่าน้ำมันรถ สันทนาการ (ดูหนัง ทานข้าวนอกบ้าน หนังสือ ตีกอล์ฟ)
รายปี : ท่องเที่ยว ปรับปรุงซ่อมแซมที่อยู่อาศัย เครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์ บำรุงรักษารถ(ประกันภัย ทะเบียน) ตรวจสุขภาพ สมาชิกสโมสร รายจ่ายทางสังคมต่างๆ (ของขวัญของกำนัลเพื่อนฝูง ญาติมิตร)
ฉุกเฉิน : ค่ารักษาพยาบาล
สิ่งที่ควรจะเห็นจากการประมาณการในค่าใช้จ่ายก็คือ รายจ่ายประจำเดือนน่าจะลดลงหลังจากที่เกษียณไปแล้วสิ่งที่เราไม่ควรจะมีแล้วในวัยเกษียณก็คือ หนี้สิน การผ่อนชำระต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบ้าน รถ หรือภาระอื่นๆ ค่าใช้จ่ายในการดูแลลูกหลานก็น่าจะหมดหรือลดไป บางสูตรก็ใช้การประมาณง่ายๆ ว่า รายจ่ายประจำหลังเกษียณควรจะเป็นประมาณ60% ของรายจ่ายในวัยทำงาน
ในส่วนของค่าใช้จ่ายรายปี เรื่องการท่องเที่ยวและการดูแลสุขภาพอาจจะเพิ่มขึ้นบ้าง ซึ่งตรงนี้อาจจะตั้งเป้าหมายให้มากไว้ก่อน เพราะถ้าเราบังคับตัวเองให้เก็บออมได้ตามนั้นจะดีกว่า แต่ถ้าขาดไปบ้างก็ค่อยมาปรับแผนกันอีกที
ถัดมาก็มาดูเรื่องการเก็บเงิน ออมเงิน เก็บเป็นทรัพย์สินดีที่สุดคือ บ้านที่อยู่อาศัย วันนี้ผมเชื่อว่า ทุกท่านคงมีที่อยู่อาศัยพร้อมแล้วก็มีประเด็นว่า ถ้ายังมีเวลาและกำลังการลงทุนในที่อยู่อาศัย เช่น ซื้อบ้านหลังใหญ่ขึ้น ทำเลดีขึ้น หรือซื้อคอนโดมิเนียมทิ้งไว้ให้เช่าก็เป็นการออมที่จะให้ประโยชน์อย่างสูงในอนาคต ยิ่งถ้ากู้เงินมาซื้อก็จะเป็นการสร้างกรอบบังคับให้ต้องผ่อนส่งเป็นประจำ
แต่ก็ต้องให้พอดีตัวพอดีกับรายได้ที่หาได้ในปัจจุบันนะครับ ผ่อนไปเถอะครับบ้านน่ะ ดีกว่าผ่อนรถยนต์ หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าเยอะแยะ ราคาบ้านและที่ดินก็ขยับปรับเพิ่มขึ้นตามเงินเฟ้อในระยะยาวได้ ตอนนี้มีบ้านหลังใหญ่เผื่อไว้ก่อน หลังเกษียณแล้วถ้าเราจะดูแลไม่ไหว ลูกๆ เริ่มออกไปอยู่กันเองก็ยังสามารถขายบ้านหลังใหญ่ไปอยู่คอนโดมิเนียมก็น่าจะสะดวกดี และอาจมีเงินเหลือเป็นค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีกด้วย
ถัดจากนั้นก็มาดูเรื่องเงินออมของเราว่าจะเก็บออมเท่าไร ในส่วนแรกที่จะออมก็อยากให้ดูการออมที่ได้ประโยชน์ทางภาษี ก็คือ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ใครยังไม่มีก็ควรรีบจัดการให้มีเสียเพราะรายได้ที่ทำมาหากินมาได้ ถ้าหักมาใส่ออมไว้ที่กองทุนสองแบบนี้ก็จะได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมาหักภาษี
ที่ผ่านมาเราเห็นว่า ผู้คนทั่วไปให้ความสำคัญกับการออมผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพค่อนข้างน้อย กองทุนสำรองเลี้ยงชีพก็เปรียบเสมือนเงินบำเหน็จที่ข้าราชการได้รับเป็นก้อนตอนเกษียณอายุ วันนี้เราเห็นพนักงานรัฐวิสาหกิจบางแห่ง และเอกชนหลายๆ แห่งมีเงินเก็บที่ได้จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นหลักล้านหรือหลายๆ ล้านเมื่อเกษียณอายุแล้ว กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ก็เป็นอีกทางเลือกที่จะให้ผู้ออมที่อยากเก็บเงินออมเงินระยะยาวแบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้ออมเพิ่มมากขึ้นจากที่มีอยู่แล้ว และได้รับการยกเว้นไม่ต้องนำมาคำนวณภาษีเงินได้เช่นเดียวกัน
แล้วก็ต้องมาดูที่การลงทุนระยะยาว เช่น เงินฝากหรือพันธบัตรอายุปานกลางถึงยาว ดูให้เหมาะกับเวลาที่จะเกษียณ ไม่ต้องให้ครบกำหนดก่อนเกษียณทั้งหมด ให้ค่อยทยอยครบอายุ ตอนหลังเกษียณไปแล้วก็ได้ ในส่วนการลงทุนระยะยาวๆ ตอนนี้ก็มีกองทุนอสังหาริมทรัพย์ที่ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ให้เช่าโดยมีผู้จัดการกองทุนคอยบริหารเก็บค่าเช่ามาให้กับเราที่เป็นผู้ลงทุนในกองทุน ก็มีความมั่นคงดีอยู่