เปิดประตูเมียวดี

ขณะที่เหล่าประเทศสมาชิกอาเซียนกำลังปรับตัวเพื่อเตรียมพร้อมการก้าวไปสู่การ เป็น ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ในปี พ.ศ. 2558 ประเทศเพื่อนบ้านของเราอย่างพม่า ก็เดินหน้า ปรับตัว และ ผ่อนคลาย กฎระเบียบการค้าและการลงทุนในประเทศเพื่อรองรับการเข้าสู่ AEC เช่นกัน

เมียวดี

พม่ามีชื่อทางการว่า สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า หรือ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ มีเมืองสำคัญที่มีบทบาททางเศรษฐกิจกระจายอยู่ตามภาคต่าง ๆ ของประเทศหลายเมือง แต่ละเมืองจะมีลักษณะเด่นและบทบาทที่แตกต่างกันไป

บทความฉบับนี้เราจะได้มาศึกษา จังหวัดเมียวดี ของพม่า ในฐานะ เมืองหน้าด่าน การค้าชายแดนระหว่างไทยกับพม่าและเป็นประตูเชื่อมต่อจากกรุงย่างกุ้งเข้ามา สู่ประเทศไทยซึ่งใกล้ที่สุดอีกด้วย

วิธีการทำอาชีพอิสระ

จังหวัดเมียวดีอยู่ในรัฐ กะเหรี่ยง ซึ่งเป็นเมืองชายแดนด้านตะวันออกของพม่าตรงข้ามกับอำเภอแม่สอด จังหวัดตากของไทย โดยมีแม่น้ำเมยเป็นเขตกั้น

เดิมเมียวดีเป็นเมือง ที่มีการค้าชายแดนกับไทย ผ่านเส้นทางขนส่งทางเรือ ต่อมาทางการไทยได้สร้างสะพานมิตรภาพไทย-พม่าแห่งที่ 1 และเปิดใช้งานเมื่อปี พ.ศ. 2540 ทำให้การค้าชายแดนระหว่างประเทศไทยและพม่าที่ด่านชายแดนแม่สอด-เมียวดี พัฒนาขึ้นเป็นด่านการค้าชายแดนไทย-พม่าที่สำคัญอันดับ 1 ของไทย และส่งผลให้เมืองเมียวดีเป็นเมืองกระจายสินค้าผ่านชายแดนที่สำคัญของพม่า ด้วย

รัฐบาลพม่าได้จัดตั้ง เขตเศรษฐกิจพิเศษเมียวดี ขึ้น เพื่อส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจชายแดนเมียวดี-แม่สอด บนพื้นที่กว่า 1,770 ไร่ เพื่อเป็นการรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งปัจจุบันพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งทางด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว

การเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนที่สุด คือการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมระหว่างไทยกับพม่า ให้มีความสะดวกยิ่งขึ้นบริเวณจังหวัดเมียวดี เชิงเขาตะนาวศรี ไปจนถึงเมืองกอกาเรก ระยะทางรวมประมาณ 45 กิโลเมตร ใช้งบประมาณกว่า 1,000 ล้านบาท โดยรัฐบาลไทยจะเป็นผู้ลงทุนให้ประเทศพม่าทั้งการเปิดเส้นทางใหม่และการปรับปรุงเส้นทางเดิมให้ดีขึ้น คาดว่าจะแล้วเสร็จในอีก 1-2 ปีข้างหน้านี้

นาย ตินเย วิน ผู้อำนวยการเขตเศรษฐกิจพิเศษเมียวดี ได้ให้ข้อมูลความคืบหน้าว่าปัจจุบันเขตเศรษฐกิจพิเศษเมียวดีมีศูนย์บริการ ด้านศุลกากรแบบ One Stop Service ที่พร้อมเปิดให้บริการแล้ว มีอาคารศุลกากรขาเข้าและขาออกเพื่อให้ความสะดวกกับการส่งออกและนำเข้าสินค้า ระหว่างไทยกับพม่า โดยรอบอาคารยังมีพื้นที่รองรับคลังสินค้าและอาคารพาณิชย์ รวมทั้งยังได้เตรียมพื้นที่ประมาณ 6,000-8,000 ไร่ สำหรับการจัดตั้ง นิคมอุตสาหกรรมเมียวดี อีกด้วย ซึ่งอยู่ใกล้กับเขตเศรษฐกิจพิเศษเมียวดีเพื่อรองรับการลงทุนในอุตสาหกรรม เกษตร อุตสาหกรรมแปรรูปและอุตสาหกรรมการ์เมนต์ เชื่อว่าจะได้รับความสนใจจากนักลงทุนเพิ่มขึ้น

ในด้านระเบียบการค้า การลงทุนนั้น นางมะติ่น ติน ประธานหอการค้าเมียวดี ได้เปิดเผยว่าขณะนี้ทางรัฐบาลพม่าได้ ปรับกฎระเบียบทางการค้า ด้วยการอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการยื่นขอจดทะเบียนพาณิชย์ที่จังหวัดเมียวดีได้โดยไม่ต้องเดินทางไปกรุงเนย์ปิดอว์เหมือนเช่นในอดีต กับทั้งได้วางระบบให้สามารถจดทะเบียนพาณิชย์เสร็จสิ้นได้ภายในระยะเวลาเพียง 2 สัปดาห์ จากเดิมที่มีขั้นตอนยุ่งยากและใช้เวลานาน

นอกจากนี้ ในการนำเข้าและส่งออกสินค้าสามารถยื่นขอใบอนุญาตได้ที่จังหวัดเมียวดี ซึ่งใช้เวลาในการอนุมัติเพียง 1 วันเท่านั้น จากเดิมที่ต้องใช้ระยะเวลานานกว่านี้ รวมถึงมีการกำหนดให้สินค้ากว่า 1,900 ชนิด จาก 80,000 ชนิดไม่ต้องขอใบอนุญาตในการส่งออกและนำเข้า เช่น อุปกรณ์การเกษตร อุปกรณ์ก่อสร้าง สินค้าอุปโภคและบริโภค เป็นต้น ซึ่งจากสถิติที่ผ่านมาพบว่าในปี พ.ศ. 2556 มูลค่ารวมการนำเข้าและส่งออกที่เมืองเมียวดีอยู่ที่ 248 ล้านบาท

ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2557 นี้ จังหวัดเมียวดีจะเปิด ศูนย์แสดงสินค้า ในเขตเศรษฐกิจพิเศษเมียวดี โดยจะมีการจับคู่ธุรกิจในรูปแบบของงานแสดงสินค้า และจะเชิญผู้ประกอบการด้านการค้าของพม่าและไทยเข้าร่วม จัดแสดงสินค้าเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนสินค้า และดึงดูดนักลงทุนชาวต่างชาติให้เข้าไปลงทุนในอุตสาหกรรมด้านต่าง ๆ ในเขตเศรษฐกิจพิเศษเมียวดีมากขึ้นอีกด้วย

รัฐบาลไทยและรัฐบาลพม่า มีนโยบายที่จะร่วมกันพัฒนาพื้นที่ชายแดนแม่สอด-เมียวดีให้เจริญควบคู่กัน เพื่อเป็นการกระตุ้นการค้าการลงทุนระหว่างกัน ซึ่งการที่รัฐบาลพม่าจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษเมียวดีขึ้นนี้ถือเป็นหนึ่งในเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน 19 แห่งที่รัฐบาลพม่ามีแผนจะจัดตั้งให้ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศภายในปี พ.ศ. 2558 อันเป็นปีแห่งการก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนของเหล่าประเทศสมาชิกทั้ง 10 ประเทศอย่างเป็นทางการนั่นเอง