ธุรกิจสปาไทยเตรียมรับ AEC เน้นความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน

แม้ว่า สปาไทย จะเป็นที่ต้องการของตลาดโลก และอยู่ในระดับผู้นำของโลกด้านธุรกิจดังกล่าว เนื่องจากสปาไทยมีจุดเด่นในด้านคุณภาพ มาตรฐาน บุคลากรผลิตภัณฑ์ การออกแบบดีไซน์ รวมถึงการบริหารจัดการด้วยเป็นศาสตร์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ มีความโดดเด่นในความเป็นไทยที่ไม่เหมือนใคร แต่ถึงกระนั้นธุรกิจนี้ ก็ยังต้องพัฒนาในทุกๆด้านให้มีความพร้อมมากขึ้น เพื่อรองรับตลาดที่จะเติบโตขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือAEC ในปี 2558 ที่จะต้องแข่งขันกันภายในตลาดอย่างเสรีเมื่อมีการเปิดAECขึ้นอย่างเป็นทางการ

นางภัททิราพร เขียวสนั่น อุปนายกสมาคมสปาไทย กล่าวว่า ธุรกิจสปาไทยมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องในทุกๆ ปี โดยเฉลี่ยอยู่ที่ปีละ 5-6% สร้างรายได้เฉลี่ยประมาณ 15,000-16,000 ล้านบาทต่อปี กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่ที่ใช้บริการเป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ 80% โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นนักท่องเที่ยวชาวสิงคโปร์ ฮ่องกง อเมริกา พื้นที่ภาคเหนือเช่น เชียงใหม่ เป็นนักท่องเที่ยวชาวสแกนดิเนเวีย ยุโรป ส่วนนักท่องเที่ยวในตลาดอาเซียนทั้ง อินเดีย เกาหลี จีน ปัจจุบันได้ใช้บริการสปาไทยเพิ่มมากขึ้น และส่วนที่เหลือ อีก 20% เป็นนักท่องเที่ยวชาวไทยซึ่งในเวลานี้ทางอุตสาหกรรมสปาได้วางแผนที่จะขยายตลาดคนไทยให้มากขึ้น

วิธีการทำอาชีพอิสระ

โดยปัจจุบันธุรกิจสปาไทยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ในการช่วยผลักดันให้สปาไทยมีความพร้อมในด้านคุณภาพ มาตรฐานในระดับสากล มีการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้าร่วมกันแข่งขันในรายการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสปา ซึ่งรางวัลดังกล่าวจะเป็นเครื่องช่วยการันตีให้กับธุรกิจสปาไทยได้อย่างชัดเจนอีกทั้งยังเป็นช่องทางที่ทำให้ผู้บริโภครู้จักสปาไทยได้มากขึ้น โดยเฉพาะในความเชื่อมั่นเรื่องคุณภาพมาตรฐานที่ดีของผลิตภัณฑ์และการให้บริการ

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาทางด้านธุรกิจสปาไทย เพื่อก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในปี 2558 สิ่งสำคัญจะต้องพัฒนา ได้แก่ ด้านการศึกษา โดยเฉพาะภาษาเพื่อใช้ในการสื่อสาร ทั้งภาษาอังกฤษ หรือภาษาอื่นๆ การพัฒนาทางด้านความคิดนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อสร้างความแตกต่างให้กับสปาไทย การผลิตบุคลากรที่เป็นคนไทยในการให้บริการ ซึ่งตลาดมีความต้องการบุคลากรด้านสปาที่เป็นคนไทยมากกว่าชาติอื่นๆ เพราะตลาดมองว่าจะได้ความรู้สึก และได้รับการบริการที่เป็นสปาไทยอย่างแท้จริง ขณะที่ทางสมาคมธุรกิจสปาเองได้จัดเทรนนิ่ง ฝึกอบรมการให้ความรู้ ทั้งในระดับพนักงานผู้ให้บริการ และในระดับผู้บริหารอย่างต่อเนื่องอีกด้วย

เวลานี้ธุรกิจสปามีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ทั้งภายในประเทศไทย และตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านที่เริ่มมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เช่น อินโดนีเซีย บรูไน มาเลเซีย เวียดนาม พม่า และลาว ดังนั้นธุรกิจสปาไทยจะต้องใช้กลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจทั้งในเชิงรุกและรับที่ควบคู่กัน และเมื่อเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนดังกล่าวขึ้น คาดว่าจะมีข้อดีในการเอื้อประโยชน์ให้กับประเทศไทยมากการเป็นคู่แข่งขันกันจะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูล มีการเรียนรู้ ทราบถึงความต้องการของผู้บริโภคในตลาด เป็นช่องทางให้ประเทศไทยสามารถเข้าไปทำตลาดสปาได้เพิ่มมากยิ่งขึ้นและเป็นการเปิดโอกาสในการลงทุนธุรกิจได้อย่างเสรี เป็นต้น

นางสาวพัชรินทร์ จำปาคำ ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายขายและการตลาด คามาลายา สมุย กล่าวว่า ธุรกิจสปาของคามาลายามีอัตราการเติบโตของรายได้ และผู้ใช้บริการเฉลี่ยอยู่ที่ปีละ 5-10% โดยผู้ใช้บริการส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ 90%ได้แก่ ออสเตรเลีย เยอรมัน สวิตเซอร์แลนด์นิวซีแลนด์ อังกฤษ อเมริกา สิงคโปร์ จีนและฮ่องกง ส่วนอีก 10% ที่เหลือเป็นนักท่องเที่ยวชาวไทย ซึ่งตั้งแต่เดือนมกราคมมิถุนายน 2555 ที่ผ่านมา บริษัทมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 25% ถือว่ามีแนวโน้มการเติบโตในระดับที่ดี และในแต่ละเดือนมีลูกค้าที่กลับมาใช้บริการซ้ำประมาณ 5%ของผู้ใช้บริการทั้งหมด คาดว่าสิ้นปี 2555 นี้ บริษัทจะมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 30%

ซึ่ง สปาไทยมีความเป็นเอกลักษณ์ มีวัฒนธรรมการบริการที่โดดเด่น และไม่เหมือนใครสามารถแข่งขันในตลาดอาเซียนได้ เมื่อมีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในปี2558 ประเทศไทยยังเป็นเป้าหมายหลักของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ โดยสิ่งสำคัญที่ต้องพัฒนาในด้านธุรกิจสปาไทย เพื่อก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบ ได้แก่ ด้านภาษา ต้องพัฒนาอย่างเร่งด่วน และความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเนื่องจากสปาไทยเป็นศาสตร์ และมีทรีทเมนท์หลายแขนง หากมีการมุ่งเน้นความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านให้กับบุคลากรหรือพนักงานสปา ก็จะยิ่งทำให้สปาไทยมีความโดดเด่น และเป็นที่ต้องการของตลาดมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ประเทศมีรายได้จากธุรกิจสปาในภาพรวมแต่ละปีเพิ่มขึ้นด้วย

ขณะที่ ด้านแรงของธุรกิจสปาไทยในภาพรวม มองว่าบุคลากรหรือพนักงานไทยสามารถพัฒนาและก้าวเข้าสู่มาตรฐานสากลได้ จึงอยากให้ภาครัฐเข้ามาช่วยสนับสนุน และให้ความสำคัญกับพนักงานกลุ่มดังกล่าว ซึ่งในอนาคตธุรกิจสปาจะเกิดการแข่งขันในตลาดที่เพิ่มมากขึ้น พร้อมกันนี้ยังเป็นการสร้างพันธมิตร ที่สามารถแลกเปลี่ยนศาสตร์ความรู้ แลกเปลี่ยนทรีทเมนท์ สร้างความหลากหลาย และเพิ่มทางเลือกให้กับกลุ่มลูกค้าที่ใช้บบริการสปามากยิ่งขึ้น

นางสาวจิดาภา ศิลป์สุข กรรมการผู้จัดการ บริษัท วะโลนิกา ไทยสปา จำกัดกล่าวว่า บริษัท มีความพร้อมที่จะรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ตลอดจนแข่งขันในตลาดเมื่อมีการเปิดประชาคมอาเซียนอย่างเป็นทางการ เนื่องจากบริษัท รับเป็นที่ปรึกษาให้กับนักธุรกิจต่างชาติที่สนใจเปิดธุรกิจสปาไทยในต่างประเทศ ทำให้บริษัทมีประสบการณ์ตรงกับตลาดดังกล่าวเป็นอย่างดี รู้ถึงความต้องการของผู้บริโภคในตลาดสากล

ทั้งนี้ เมื่อมีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 หากมองในด้านการตลาดธุรกิจสปาจะมีการแข่งขันกันมากขึ้น โดยเฉพาะในด้านแรงงาน แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยความต้องการของตลาดโลก ประกอบกับประสบการณ์ตรงของบริษัท มองว่าชาวต่างชาติยังชื่นชอบในบุคลากร หรือพนักงานที่เป็นคนไทยมากกว่าแรงงานประเทศอื่นๆ ในส่วนนี้จึงทำให้บริษัท มีแผนขยายการลงทุนเปิดโรงเรียนสอนสปา และ การนวดไทยประมาณเดือนสิงหาคม 2555 นี้เพื่อผลิตบุคลากรให้เพียงพอต่อความต้องการของตลาดโลก

 ที่มา : สยามรัฐ