ทวาย พม่า และท่าเรือน้ำลึก เชื่อมเส้นทางขนส่งไทย-พม่า

ท่าเรือน้ำลึกทวาย ก่อให้เกิดอะไรบ้าง

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย จัดทำแผนบูรณาการการพัฒนาจังหวัดกาญจนบุรีให้เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจภาคตะวันตก เพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นจากการพัฒนาโครงการท่าเรือน้ำลึกทวายของสหภาพพม่า และรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือAEC ขณะที่ “สุกำพล” ลุยสร้างถนน-รถไฟเชื่อมทวาย เปิดทางเอกชนลงทุนมอเตอร์เวย์ 4.5 หมื่นล้านบาท

โอกาส

1. การพัฒนาท่าเรือน้ำลึกภายใต้โครงการ Dawei Development เป็นโอกาสเปิดประเทศไทยสู่เส้นทางการเดินเรือโลกสายใหม่ (New Global Maritime Route) และเชื่อมโยงผ่านพม่าไปยังประเทศจีน อินเดีย และ บังกลาเทศ รวมทั้งสร้างโอกาสการพัฒนากาญจนบุรีเป็นพื้นที่เศรษฐกิจชายแดน และ Logistics Hub เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยดึงดูดการลงทุนจากในประเทศและต่างประเทศ พัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมต่อเนื่องให้อยู่ในบริเวณเดียวกัน ซึ่งทำให้สะดวกในการควบคุมด้านแรงงานและสิ่งแวดล้อม และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

2. การพัฒนาท่าเรือน้ำลึก นิคมอุตสาหกรรม เมืองและรีสอร์ท ภายใต้โครงการ Dawei Development ในเนื้อที่ 250 ตารางกิโลเมตร จะทำให้เกิดความต้องการ วัสดุก่อสร้าง สินค้าอุปโภคบริโภค และสิ่งอำนวยความสะดวก สำหรับนักธุรกิจ คนงาน และนักท่องเที่ยว ความต้องการนี้ จะสร้างโอกาสสำหรับนักธุรกิจไทยในการเพิ่มปริมาณและชนิดของสินค้าไปจำหน่ายในสหภาพพม่า รวมทั้งการวางตำแหน่งทวายให้เป็นแหล่งกระจายสินค้าเพื่อส่งต่อไปทางเหนือผ่านเมืองเย เมืองเมาะลำไย จนถึงย่างกุ้ง ขณะเดียวกันก็สามารถนำวัตถุดิบในสหภาพพม่า กลับเข้ามาผลิตและแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าในฝั่งไทย เช่น ไม้ สินแร่ ฯลฯ

3. มีโอกาสในการทำ Contract farming ในมณฑลตะนาวศรี (Tanintharyi) ซึ่งเป็นที่ราบกว้างใหญ่ แหล่งน้ำสมบูรณ์ นอกจากนั้นยังมีโอกาสย้ายฐานการผลิต/ขยายการค้าการลงทุนในสหภาพพม่าในระดับสูง เนื่องจากตลาดพม่าต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีคุณภาพ รวมทั้งสินค้าทุนและวัตถุดิบที่เอื้ออำนวยต่อการลงทุนในอุตสาหกรรมสาขาต่างๆ อีกทั้งต้นทุนการขนส่งในสหภาพพม่าต่ำกว่าไทย เพราะขนส่งทางน้ำได้ตลอดปี นอกจากนั้นต้นทุนด้านการตลาดและอัตราค่าจ้างก็ต่ำกว่าไทย จึงเป็นโอกาสของนักลงทุนในการขยายตลาดและลดต้นทุนการประกอบการ

4. รัฐบาลไทยและรัฐบาลสหภาพพม่ามีนโยบายสนับสนุนโครงการ Dawei Development มาโดยลำดับ รัฐบาลไทยเน้นการพัฒนาเส้นทางขนส่งและระบบโลจิสติกส์เชื่อมโยง เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งและโลจิสติกส์ของภูมิภาค รัฐบาลของสหภาพพม่าถือว่าโครงการ Dawei Development เป็นโครงการระดับชาติ และได้ออกกฎหมาย Special Economic Zone เมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2554 เป็นกฎหมายแม่สำหรับ การจัดตั้ง SEZ คาดว่ารัฐบาลพม่าจะออกกฎหมายลูก SEZ สำหรับโครงการ Dawei Development

วิธีการทำอาชีพอิสระ

5. โอกาสในการเจรจาเปิดจุดผ่อนปรนทางการค้าและจุดผ่านแดนถาวร ที่บ้านพุน้ำร้อน สืบเนื่องจากการสนับสนุนของรัฐบาลพม่าที่มีต่อโครงการ Dawei Development ซึ่งตามแผนจะมี Transborder Corridor จากท่าเรือน้ำลึกมาเชื่อมต่อกับทางหลวงของไทยที่บ้านพุน้ำร้อน และเนื่องจากบริเวณนี้ยังไม่มีชุมชนเมืองในรัศมีใกล้เคียง จึงน่าจะทำให้การปักปันเขตแดนมีความยุ่งยากน้อยกว่าบริเวณอื่น ทั้งนี้ การเปิดจุดผ่อนปรนทางการค้าและจุดผ่านแดนถาวร จะเป็นโอกาสขยายการค้าการลงทุนและเชื่อมโยงวงจรการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ตามแนวชายแดน และเป็นพื้นฐานสำหรับการพัฒนาการเกษตร อุตสาหกรรมและโลจิสติกส์ ซึ่งจะส่งผลให้กาญจนบุรีสามารถพัฒนาเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจภาคตะวันตก

6. รัฐบาลจีนมีแผนก่อสร้างทางรถไฟเชื่อมโยง Yunnan-Dawei โดยขอให้โครงการ Dawei Development ก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกเพิ่มอีก 1 ท่า สำหรับจีนโดยเฉพาะ เป็นโอกาสในของทางรถไฟไทยในการเชื่อมโยงกับทางรถไฟ Yunnan-Dawei ที่กาญจนบุรีตามแผน Trans Asian Railway ของ UN ESCA

ข้อจำกัด

1. ความไม่แน่นอนของกฎระเบียบการค้าชายแดนของสหภาพพม่า ที่เปลี่ยนแปลงบ่อยและยังไม่เอื้ออำนวย โดยเฉพาะการปิด-เปิดด่านชายแดน รวมทั้งท่าทีของทางการพม่าบางส่วนที่แสดงถึงความไม่ไว้วางใจต่อไทย ตลอดจนความเคลื่อนไหวในลักษณะต่อต้านการซื้อสินค้าไทย ความเข้มงวดของทางการพม่าบริเวณชายแดน ส่งผลให้เกิดความต้องการสินค้าไทยมีสูง และเมื่อพ่อค้าพม่าไม่สามารถนำเข้าสินค้าไทยตามวิถีการค้าในระบบ ก็จะเกิดขบวนการลักลอบนำเข้า จึงทำให้สถานการณ์การค้าชายแดนไทย-พม่า อยู่ในวังวนของการค้าชายแดนและกองกำลังชนกลุ่มน้อย มาโดยตลอด

2. ปัญหาแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย ยาเสพติด โรคติดต่อชายแดน และการนำเข้า/ส่งออกสินค้าโดยไม่ผ่านวิธีการศุลกากร มีอยู่ตลอดแนวชายแดน ทั้งนี้การเปิดพื้นที่เศรษฐกิจชายแดนกาญจนบุรี หากไม่มีมาตรการรองรับ/จัดการปัญหาดังกล่าว อาจทำให้สถานการณ์มีความรุนแรงขึ้น

3. พื้นที่ชายแดนฝั่งพม่าบางส่วนอยู่ในความดูแลของชนกลุ่มน้อย ซึ่งมีบทบาทอย่างมากต่อการค้าชายแดน และการผ่านเข้า-ออกบริเวณที่เป็นเขตอิทธิพลของกองกำลังชนกลุ่มน้อย จึงก่อให้เกิดการค้านอกระบบ ซึ่งรัฐบาลพม่าถือว่าผิดกฎหมาย อีกทั้งบางบริเวณเป็นแหล่งผลิตยาเสพติด และขบวนการส่งคนจีนออกนอกประเทศโดยผิดกฎหมาย ซึ่งคนจีนเหล่านี้เริ่มมีอิทธิพลกระทบต่อความมั่นคงภายในของประเทศเป้าหมายมากขึ้นโดยลำดับ

4. ยังไม่มีการปักปันเขตแดนไทย-สหภาพพม่า ส่งผลทำให้ต้องกันพื้นที่และควบคุมการพัฒนาในฝั่งไทยไม่ให้กระทบต่อการปักปันเขตแดนในอนาคต

5. จุดผ่านแดนกาญจนบุรีเป็นจุดผ่านแดนชั่วคราวซึ่งไม่ส่งเสริมการค้าเท่ากับจุดผ่านแดนถาวร ทำให้มูลค่าการค้าชายแดนมีน้อย อีกทั้งมีปัญหาสินค้าบางประเภทที่ไม่สามารถเก็บภาษี และนำเข้า/ส่งออกได้ เนื่องจากขัดกับมาตรการทางกฎหมาย นอกจากนั้นความตกลงสินค้าผ่านแดนซึ่งไทยและสหภาพพม่าลงนามแล้วบางฉบับยังไม่มีผลในทางปฏิบัติจริง

การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจชายแดนกาญจนบุรี

จังหวัดกาญจนบุรี มีศักยภาพสูงในการเป็นเขตเศรษฐกิจชายแดน และมีขีดความสามารถเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจภาคตะวันตก ในด้านการค้าการลงทุนชายแดน ได้อย่างดีเขตเศรษฐกิจชายแดนกาญจนบุรี เมื่อเชื่อมโยงกับท่าเรือน้ำลึกทวาย จะทำให้สามารถขนส่งและแปรรูป วัตถุดิบและสินค้าสู่ตลาดโลกได้สะดวกยิ่งขึ้น โดยจะเป็นพื้นที่เศรษฐกิจหลัก ที่จะกระตุ้นการพัฒนาอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมต่างๆ ของภาคตะวันตก

สาเหตุที่พิจารณาว่าพื้นที่บริเวณนี้มีความเหมาะสมที่จะพัฒนาเป็นเขตเศรษฐกิจชายแดนเมื่อเปรียบเทียบกับแนวพื้นที่อื่น เนื่องจาก

(1) การพัฒนานิคมอุตสาหกรรม และท่าเรือน้ำลึกทวาย จะเปิดประเทศสู่เส้นทางเดินเรือใหม่ของโลก โดยจะมี Transborder Corridor มาเชื่อมโยงกับไทยบริเวณบ้านพุน้ำร้อน จังหวัดกาญจนบุรี เป็น โอกาสในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในเขตเศรษฐกิจชายแดนกาญจนบุรี เพื่อรองรับอุตสาหกรรมหนักในนิคมอุตสาหกรรมทวาย โดยจะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนของกาญจนบุรี

(2) มีบริการสนับสนุนอย่างเพียงพอจากเมืองกาญจนบุรี (บริการธุรกิจ การศึกษา ฯลฯ)

(3) จังหวัดกาญจนบุรีสามารถเชื่อมโยงสู่กรุงเทพฯ ได้อย่างรวดเร็ว โดยมีระยะทาง 128 กม.ถึงกรุงเทพฯ 258 กม. ถึงท่าเรือแหลมฉบัง และ 478 กม. ถึงชุมพร

(4) จังหวัดกาญจนบุรีมีพื้นที่ที่ใช้ในราชการทหารขนาดใหญ่ ซึ่งมีโอกาสขอใช้บางส่วนเพื่อจัดตั้งเขตเศรษฐกิจชายแดน

(5) เขตเศรษฐกิจชายแดนกาญจนบุรี เมื่อผนวกกับโครงการนิคมอุตสาหกรรมและท่าเรือน้ำลึกทวาย จะมีบทบาทสำคัญในการแก้ไขข้อจำกัดการขยายพื้นที่อุตสาหกรรมของประเทศไทย และ

สนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในอนาคต

การเตรียมโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุน

การพัฒนาโครงข่ายขนส่งคุณภาพสูงระหว่างกรุงเทพฯ-กาญจนบุรี-บ้านพุน้ำร้อนเพื่อเชื่อมโยงกับ Transborder Corridor จากโครงการ Dawei Development เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องเร่งพิจารณาดำเนินการ เพื่อให้เกิดโครงข่ายขนส่งที่มีคุณภาพ เชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์และการค้าการลงทุน ระหว่างประเทศไทยกับสหภาพพม่า และเชื่อมโยงศักยภาพทางเศรษฐกิจระหว่างเขตเศรษฐกิจพิเศษ Dawei กับเขตเศรษฐกิจชายแดนกาญจนบุรี ซึ่งหมายรวมถึงศักยภาพทางเศรษฐกิจของกลุ่มจังหวัดในภาคตะวันตกทั้งหมด

แผนการพัฒนาทางหลวงในอนาคต

โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางใหญ่-นครปฐม-กาญจนบุรี ระยะทาง 97 กม. เป็นทางหลวงพิเศษแนวใหม่บนพื้นดิน ขนาด 4-6 ช่อง จราจร ควบคุมทางเข้า-ออก แบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงที่ 1 บางใหญ่-นครปฐม ระยะทาง 47 กม. ก่อสร้าง 6 ช่องจราจร และช่วงที่ 2 นครปฐม-กาญจนบุรี ระยะทาง 50 กม. ก่อสร้าง 4 ช่องจราจร โดยผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติแล้ว อยู่ระหว่างพิจารณาแหล่งทุนเพื่อดำเนินการก่อสร้าง

โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสาย กาญจนบุรี-ชายแดนไทย/พม่า บ้านพุน้ำร้อน) ระยะทาง 70 กม. อยู่ระหว่างเสนอของบประมาณปี 2555 เพื่อจ้างศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบสิ่งแวดล้อมเงื่อนไขการออกแบบทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองทั้งสองโครงการ จะต้องเตรียมพื้นที่สำหรับเส้นทางรถไฟ รวมทั้งสายส่งไฟฟ้า ระบบท่อ และสิ่งอำนวยความสะดวกบนเส้นทางให้มีความเหมาะสมและสามารถเชื่อมต่อกับ Transborder Corridor ที่มาจากสหภาพพม่าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ระบบรถไฟและลานกองตู้สินค้า แผนการพัฒนาระบบรถไฟในอนาคต การศึกษาแผนแม่บทการพัฒนาระบบรางและรถไฟความเร็วสูงของสำนักงาน นโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม เสนอแนะให้มีการพัฒนาเส้นทางรถไฟสายตะวันตกเพื่อเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน ในเส้นทางสายน้ำตก-ด่านเจดีย์สามองค์ ระยะทาง 135 กม. แต่ยังไม่มีการศึกษาเพื่อเชื่อมโยงทางรถไฟถึงบ้านพุน้ำร้อนเพื่อเชื่อมโยงกับพื้นที่อุตสาหกรรมทวาย

ทางอากาศ ภาคตะวันตกมี สนามบิน 4 แห่ง อยู่ในจังหวัดกาญจนบุรี 1 แห่ง คือ สนามบินสุรสีห์ อยู่ในจังหวัดราชบุรี 1 แห่ง คือ สนามบินโพธาราม และอยู่ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 2 แห่ง คือ สนามบินประจวบคีรีขันธ์ และท่าอากาศยานหัวหิน ซึ่งเป็นสนามบินแห่งเดียวในภาคตะวันตกที่ใช้ในเชิงพาณิชย์

กาญจนบุรี ยังไม่มีสนามบินที่ใช้ในเชิงพาณิชย์ มีแต่สนามบิน พล.ร.9 ในความรับผิดชอบของกองพลทหารราบที่ 9 ซึ่งใช้เพื่อภารกิจทางทหาร โดยมีศักยภาพที่จะปรับปรุงเพื่อใช้ในกิจการพาณิชย์ได้ สนามบินสุรสีห์ตั้งอยู่ที่ตำบลลาดหญ้า อ.เมือง จ.กาญจนบุรี อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ห่างจากตัวเมือง 30 กิโลเมตร

“สุกำพล”ลุยสร้างถนน-รถไฟเชื่อมทวาย4.5หมื่นล้าน

พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่ากระทรวงฯมีแผนผลักดันระบบคมนาคมขนส่ง เพื่อเชื่อมท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวายในพม่ามายังไทย ทั้งในส่วนของถนน และทางรถไฟ ในส่วนของรถไฟจะขยายแนวเส้นทางรถไฟ ปัจจุบันสิ้นสุดที่จ.กาญจนบุรี เชื่อมต่อไปยังชายแดนไทย-พม่า การสร้างท่าเรือน้ำลึกทวายต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง โดยวันที่ 7 ม.ค.นี้ ตนได้รับเชิญจากกระทรวงการคลัง ร่วมคณะเดินทางไปทวาย เพื่อดูความคืบหน้าโครงการก่อสร้างท่าเรือและนิคมฯทวาย

นายวันชัย ภาคลักษณ์ อธิบดีกรมทางหลวง กล่าวว่ากรมฯมีแผนก่อสร้างโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง หรือ มอเตอร์เวย์ สายบางใหญ่-นครปฐม-กาญจนบุรี ระยะทาง 98 กม. เงินลงทุน 45,886 ล้านบาท เป็นค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 4,851 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง 40,495 ล้านบาท และค่าควบคุมงาน 540 ล้านบาท โครงการนี้จะรองรับการคมนาคมขนส่งเชื่อมต่อท่าเรือน้ำลึกทวาย เป็นส่วนหนึ่งของโครงข่ายการเชื่อมโยงระบบคมนาคมระหว่างประเทศในกลุ่มอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขง พม่า-ไทย-กัมพูชา รวมทั้งเป็นโครงข่ายทางสายหลักเชื่อมต่อระหว่างกรุงเทพฯและจังหวัดต่างๆ ในภาคตะวันตก

กรมฯได้สำรวจและออกแบบรายละเอียดโครงการแล้วเสร็จมาตั้งแต่แต่ปี 2552 ซึ่งคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ให้ความเห็นชอบรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมช่วงบางใหญ่-บ้านโป่ง ตั้งแต่ปี 2541 ส่วนช่วงบ้านโป่ง-กาญจนบุรี ได้รับความเห็นชอบเมื่อปี 2546 ปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษาแนวทางและรูปแบบการลงทุนรูปแบบ Public Private Partnership หรือ PPPs โดยให้เอกชนร่วมลงทุน ได้รับการสนับสนุนด้านวิชาการศึกษาจากธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือ เอดีบี คาดผลการศึกษาจะเสร็จปี 2555

ทั้งนี้เพื่อให้การเชื่อมต่อมอเตอร์เวย์สายบางใหญ่-นครปฐม-กาญจนบุรี สามารถเชื่อมต่อไปถึงชายแดนพม่าได้ จึงได้จ้างบริษัทศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการมอเตอร์เวย์สายกาญจนบุรี-ชายแดนไทย-พม่า ที่บ้านพุน้ำร้อน ระยะทาง 70 กม. คาดใช้เวลาศึกษา 1 ปี

“มั่นใจจะสร้างระบบถนนไปเชื่อมต่อการคมนาคมที่ท่าเรือน้ำลึกทวายได้ทันความต้องการ โดยเฉพาะมอเตอร์เวย์ เพราะโครงการพร้อมอยู่แล้วรอเพียงรูปแบบการลงทุน ระหว่างนี้ยังมีทางหลวงแผ่นดินที่เชื่อมต่อชายแดนพม่าที่บ้านพุน้ำร้อนอีก 2 ช่องจราจร ยังรองรับการจราจรได้” นายวันชัย กล่าว

ที่ผ่านมาเคยประกาศเชิญชวนผู้สนใจยื่นข้อเสนอร่วมลงทุนในโครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์ สายบางใหญ่-นครปฐม-กาญจนบุรี เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2543 แต่ไม่มีเอกชนรายใดสนใจยื่นข้อเสนอลงทุน โดยเปิดให้สัมปทานเอกชน แต่เอกชนต้องจัดหาเงินลงทุนก่อสร้าง และได้สิทธิการบริหารจัดเก็บค่าผ่านทาง การประกวดราคาครั้งต่อไปจะเปลี่ยนรูปแบบการลงทุน โดยรัฐบาลจะเป็นผู้พิจารณารูปแบบการลงทุนที่เหมาะสมเอง

สำหรับรูปแบบโครงการมอเตอร์เวย์บางใหญ่-นครปฐม-กาญจนบุรี จะก่อสร้างเป็นทางหลวงมาตรฐานสูง ควบคุมการเข้า-ออกอย่างสมบูรณ์ เก็บค่าผ่านทางตามระยะทางหรือระบบปิด การก่อสร้างแบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงบางใหญ่-นครปฐม ขนาด 6 ช่องจราจร ระยะทาง 51 กม. ช่วงนครปฐม-กาญจนบุรี 4 ช่องจราจร ระยะทาง 47 กม. คาดใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปี

นอกจากนั้น ยังมีแผนเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างท่าเรือน้ำลึกทวายกับท่าเรือแหลมฉบัง โดยใช้แนวเส้นทาง ชายแดนพม่า-กาญจนบุรี-ทางหลวงสาย 323 สาย 4 สาย 338-วงแหวนรอบนอกด้านตะวันตก-วงแหวนรอบนอกด้านใต้-ทางหลวงสาย 34-มอเตอร์เวย์สาย 7-ท่าเรือแหลมฉบัง และเส้นทางมอเตอร์เวย์ในอนาคตจะเริ่มจากกาญจนบุรี-นครปฐม-บางใหญ่-วงแหวนรอบนอกด้านตะวันออก-มอเตอร์เวย์สาย 7-ท่าเรือแหลมฉบัง

นายยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กล่าวว่าปัจจุบันทางรถไฟสายตะวันตกสิ้นสุดที่น้ำตกไทรโยค จ.กาญจนบุรี หากจะต่อเชื่อมไปยังชายแดนพม่า เพื่อรองรับการขนส่งจากท่าเรือน้ำลึกทวาย ต้องศึกษาแนวเส้นทางที่มีความเหมาะสมก่อนว่า จะใช้แนวเส้นทางใดเพื่อเชื่อมไปยังชายแดนไทย-พม่า หากกระทรวงคมนาคมมีนโยบายดำเนินการ ร.ฟ.ท. จะศึกษารายละเอียดต่อไป

ที่มา : bangkokbiznews.com