เวียดนามกับอาเซียน

อาเซียนก่อตั้งขึ้นในบรรยากาศของสงครามเย็น และในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รูปลักษณ์สำคัญที่สุดสงครามเย็นคือสงครามเวียดนาม ซึ่งเมื่อมีการก่อตั้งอาเซียน ใน ค.ศ.1967 กล่าวได้ว่ากำลังอยู่ในช่วงสูงสุด สหรัฐอเมริกาเข้าไปแทรกแซงทางทหารในเวียดนามโดยตรงและสงครามทางอากาศต่อเวียดนามเหนือที่เริ่มมาตั้งแต่ช่วงต้น ค.ศ.1965 ก็ยังดำเนินอยู่อย่างเต็มกำลัง แม้ว่าอาเซียนจะจัดตั้งขึ้นในลักษณะที่มิใช่เป็นพันธมิตรทางทหารอย่างเช่น องค์การสนธิสัญญาป้องกันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia Treaty Organization SEATO) ที่มีมาก่อนหน้านั้นแล้ว แต่การเป็นกลุ่มต่อต้านคอมมิวนิสต์ของอาเซียนในขณะนั้นก็ปราศจากข้อสงสัยใดๆ และสมาชิกอาเซียน 2 ชาติ คือ ไทยและฟิลิปปินส์ก็ส่งทหารไปรบในเวียดนามใต้ด้วย

วิธีการทำอาชีพอิสระ

เวียดนามจึงอยู่คนละฝ่ายกับอาเซียนและประเทศไทยมาแต่ต้น ดังนั้น ช่วงระยะเวลาหลังสงครามเวียดนามจึงเป็นช่วงเวลาแห่งความยากลำบากสำหรับการปรับตัวเข้าหากันระหว่างเวียดนามกับอาเซียน อย่างไรก็ดี นอกเหนือจากสถานการณ์ทั้งในโลกและในภูมิภาคที่เปลี่ยนไป การปรับตัวครั้งสำคัญของอาเซียนที่เป็นผลมาจากการประชุมสุดยอดครั้งแรกที่บาหลีในเดือนกุมภาพันธ์ 1976 นับว่ามีผลอยู่ไม่น้อยในการทำให้อาเซียนและเวียดนามปรับตัวเข้าหา กันได้

ผลสำคัญประการหนึ่งจากการประชุม สุดยอดอาเซียนครั้งแรกนี้ ก็คือ การลงนามในสนธิสัญญาทางไมตรีและความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Treaty of Amity and Cooperation in Southeast Asia-TAC) เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 1976 สนธิสัญญานี้ ซึ่งกำหนดให้ประเทศภาคีร่วมมือกันในการส่งเสริมสันติภาพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อสร้างรากฐานสำหรับการมีประชาคมที่เข้มแข็งและยั่งยืนของชาติในภูมิภาค โดยเฉพาะด้วยการเปิดให้รัฐอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้ามาร่วมเป็นสมาชิกอาเซียนได้ จึงถือได้ว่าสนธิสัญญานี้มีส่วนสำคัญในการสร้างเงื่อนไขสำหรับการที่ชาติต่างๆ ในภูมิภาคจะปรับความสัมพันธ์ต่อกันและร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดต่อไป และประเทศอินโดจีน (และเมียนมาร์) ได้เข้าร่วมกลุ่มภูมิภาคที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ในที่สุดเมื่อสิ้นทศวรรษ 1990 โดยเวียดนามที่เข้าเป็นสมาชิกอาเซียนใน ค.ศ.1995 นับเป็นสมาชิกใหม่ชาติแรกของสมาคมประชาชาตินี้ (หากไม่นับบรูไนที่เข้าใน ค.ศ.1984)

เมื่อเวียดนามเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของอาเซียน เวียดนามดำเนินบทบาทของตนอย่างแข็งขันทั้งในทางการเมืองและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในแง่ของการปฏิบัติตามพันธกรณีต่างๆ เช่น ในกรอบของระบบอัตราภาษีพิเศษร่วม (Common Effective Preferential Tariff-CEPT) ของเขตการค้าเสรี ในทางการเมืองนอกจากเวียดนามจะมีบทบาททางการ เช่น ในการจัดประชุมสำคัญของอาเซียนทั้งในระดับเจ้าหน้าที่รัฐมนตรี และระดับสูงสุดคือ การประชุมสุดยอดของผู้นำแล้ว ที่น่าสนใจคือเวียดนามมีส่วนอย่างมากด้วยในการนำชาติอาเซียนตะวันออกเฉียงใต้ที่ยังอยู่นอกอาเซียนอีก 3 ชาติ คือ กัมพูชา ลาว และเมียนมาร์ ให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของอาเซียน

ผลจากการเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนของเวียดนามที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด คือในด้านเศรษฐกิจหลัง ค.ศ.1995 เมื่อเวียดนามเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนและเริ่มลดภาษีศุลกากร ภายใต้ CEPT มูลค่าการค้าตั้งแต่ช่วงนั้นก็เพิ่มขึ้นอย่างมาก (ตัวเลขต่างๆ ในที่นี้มาจาก Ninh thi Dieu Le. Vietnam’s Role in ASEAN Political and Economic Cooperetion from 1995 to 2010. Unpublished MA Thesis, Graduate School, Chulalongkorn University, May 2011) คือเพิ่มขึ้นจาก 7.1 พันล้านเหรียญสหรัฐใน ค.ศ.2000 มาเป็น 14.91 พันล้านเหรียญสหรัฐใน ค.ศ.2005 และเป็น 29.77 พันล้านเหรียญใน ค.ศ.2008 ปริมาณการค้าระหว่างกันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตลอด มีเพียง ค.ศ.2009 เท่านั้นที่มูลค่าการค้าลดลงมาเป็น 22.41 พันล้านเหรียญสหรัฐ อันเป็นผลมาจากปัญหาเศรษฐกิจโลกขณะนั้น

นอกจากนั้น เมื่อเวียดนามเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนแล้ว มูลค่าการลงทุนจากอาเซียนก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ใน ค.ศ.1995 เงินทุนจดทะเบียนในโครงการลงทุนจากอาเซียนมีมูลค่า 3.24 พันล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อถึง ค.ศ. 1997 ตัวเลขนี้ก็เพิ่มเป็นกว่า 7.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ และอีก 3 ปีต่อมาก็เพิ่มขึ้นไปเป็น 9.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ และเฉพาะช่วง ค.ศ.2008-2009 เงินลงทุนจากอาเซียนเพิ่มขึ้นอย่างมโหฬารจาก 11 พันล้านเหรียญสหรัฐ เป็น 46.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ

ในแง่ของการประเมินความพร้อมของประเทศต่างๆ ในการรับมือการแข่งขันในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ จากข้อมูลของ ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการมูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย เวียดนามมีความพร้อมมากที่สุดในบรรดาประเทศสมาชิกทั้งหลาย คือ มีความพร้อมถึงร้อยละ 85 รองลงมาคือ มาเลเซีย ร้อยละ 72 ตามด้วยไทย ร้อยละ 67 อินโดนีเซีย ร้อยละ 63 บรูไน ร้อยละ 58 และฟิลิปปินส์ ร้อยละ 57

เวียดนามเป็นประเทศใหญ่มากที่สุดเป็นลำดับที่สามในเอเซียน คือ มีประชากรเกือบ 90 ล้านคน รองจากอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ที่สำคัญคือ มีประชากรอยู่ในวัยหนุ่มสาวเป็นจำนวนมาก และคนเหล่านี้มีการศึกษาดี เศรษฐกิจเวียดนามตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา คือ หลังจากมีการใช้นโยบายปฏิรูปที่เรียกว่า “Doi Moi” เติบโตอย่างต่อเนื่อง

ที่มา : ธีระ นุชเปี่ยม ศูนย์เตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มติชน)