แรงงานพม่าในไทย เมื่อเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

ชาติที่เกี่ยวข้องกับบ้านเราในภาคธุรกิจมากที่สุดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้นั่นคือพม่า หรือ สหภาพเมียนมาร์ ที่ปัจจุบันมีแรงงานนับล้านคน ทั้งที่ถูกและไม่ถูกกฎหมายอาศัยอยู่ในพื้นที่เศรษฐกิจจนบางพื้นที่ถูกเรียกกันเล่นๆ ว่าเป็นจังหวัดใหม่ของพม่าไปเสียแล้ว

แน่นอนว่า ประเด็นเหล่านี้หากมองในมุมความมั่นคงของชาติถือว่าเป็นเรื่องล่อแหลมมากเพราะในจำนวนแรงงานเหล่านี้ มีไม่น้อยที่ไม่สามารถระบุสัญชาติหรืออัตลักษณ์ส่วนบุคคลได้ ทำให้คนกลุ่มนี้หากก่ออาชญากรรมแล้วการจะติดตามจับกุมมาดำเนินคดีจะเป็นไปได้ยากมาก เนื่องจากไม่มีเอกสารใดๆ ของทางการที่บันทึกประวัติไว้เลย วันนี้สกู๊ปหน้า 5 จะพาไปรับฟังข้อคิดเห็นในด้านความมั่นคงจากหลายภาคส่วนที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ตามแนวชายแดนว่าพวกเขามีความกังวลอย่างไร หรือมองเห็นอะไรหลังจากผ่านวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2558 นี้ไปแล้วบ้าง

แรงงานพม่านับล้านคนในไทย

เป็นที่ทราบกันดีว่าปัจจุบันเศรษฐกิจไทยดำรงอยู่และเติบโตได้นั้นแรงงานต่างด้าวชาวพม่ามีส่วนสำคัญไม่น้อย
โดยเฉพาะกิจการด้านประมงและรับเหมาก่อสร้าง จากสถิติของกระทรวงแรงงานในปี พ.ศ.2553 พบว่ามีแรงงานต่างด้าวที่เข้าเมืองอย่างถูกกฎหมายราว 1 ล้าน 3 แสนคน ในจำนวนนี้ร้อยละ 82 เป็นชาวพม่า เท่ากับว่าราว 1 ล้านคน ของแรงงานเหล่านี้เป็นชาวพม่า แต่จากข้อมูลเชิงลึก พบว่านอกจากแรงงานขึ้นทะเบียนเหล่านี้แล้ว ยังมีแรงงานที่หลบหนีเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายหลบซ่อนตัวทำงานในไทยอีกเป็นจำนวนมากที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้

วิธีการทำอาชีพอิสระ

“ดิฉันเคยคุยกับคนพม่า บอกพวกเขาว่าตอนนี้เรามีแรงงานพม่าราว 1 ล้านคน ในไทย เขาทำหน้างงๆ แล้วบอกกับดิฉันว่าคนพม่าหายไป 10 ล้านคน หากไทยบอกมีพม่า 1 ล้านคนแล้วพม่าอีก 9 ล้านหายไปไหน” เป็นคำบอกเล่าของนางนฤมล ขรภูมิ ประธานหอการค้าจังหวัดระนอง

คุณนฤมลเล่าแกมติดตลกว่าทุกวันนี้ในพื้นที่ จ.ระนองแทบจะกลายเป็นจังหวัดใหม่ของพม่าไปแล้ว สังเกตได้จาก
โรงพยาบาลประจำจังหวัดที่จะมีชาวพม่ามารอคิวใช้บริการตั้งแต่เช้าตรู่โดยแทบไม่เห็นคนไทยเลยนอกจากเจ้าหน้าที่ ไม่เพียงเท่านั้น สถานดูแลเด็กเล็กที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรเอกชนมีเด็กที่เป็นลูกหลานของแรงงานต่างด้าวเหล่านี้อยู่ในความดูแลอีกหลายพันคน ซึ่งในจำนวนนี้หลายคนไม่มีสัญชาติหรือเอกสารยืนยันตัวตนใดๆ เนื่องจากหลบหนีเข้าเมือง
ผิดกฎหมาย และทางการพม่าก็ไม่เคยยอมรับบุคคลเหล่านี้เป็นพลเมืองอย่างถูกต้อง

คุณนฤมลเล่าต่อไป พบว่าปัญหาอีกอย่างคือหน้าที่ในการจ่ายประกันสังคม แรงงานต่างด้าวจำนวนไม่น้อยไม่ทราบว่าการที่ตนเองมีสิทธิในการรักษาพยาบาลกับ รพ.ของรัฐในประเทศไทยนั้นก็ต้องมีหน้าที่ในการหักค่าจ้างจำนวนหนึ่งเข้ากองทุนประกันสังคมด้วยเช่นเดียวกับแรงงานไทยทั่วไป

“คนพม่าไม่น้อยไม่รู้ว่าพวกเขาต้องหักเงินเพื่อเข้าประกันสังคมไว้ใช้ในการรักษาพยาบาลหรือว่าคลอดบุตร จึงมีการหลบเลี่ยงประกันสังคมกัน ตรงนี้อยากฝากสำนักงานประกันสังคมให้ช่วยประชาสัมพันธ์ด้วย ไม่ใช่ว่าผลักภาระมาให้นายจ้างอย่างเดียว โดยทุกวันนี้ทางประกันสังคมบอกว่าเป็นหน้าที่ของนายจ้างที่ต้องหักเงินจากลูกจ้างส่งประกันสังคม ถ้าไม่หักจากลูกจ้างเท่ากับว่านายจ้างต้องจ่ายเองทั้งส่วนของนายจ้างและลูกจ้างด้วย”

แท็กซี่ต่างด้าวกับอาชญากรรม

ประเด็นเล็กๆ ที่ไม่ค่อยถูกพูดถึงเท่าไรนัก แต่ทว่ากระทบต่อความมั่นคงและสวัสดิภาพชีวิตของประชาชนไม่น้อย นั่นคือทุกวันนี้มีกระแสข่าวในทำนองว่าพบคนขับแท็กซี่หลายรายท่าทางไม่เหมือนคนไทย และที่สำคัญพวกเขาไม่สามารถ
พูดภาษาไทยได้ ทำให้มีเสียงเล่าลือกันว่ามีคนต่างด้าวลักลอบเข้ามาขับแท็กซี่ในเมืองไทยเป็นจำนวนมาก

แหล่งข่าวด้านความมั่นคงรายหนึ่งที่ปฏิบัติหน้าที่ตามแนวชายแดนไทย-พม่า เล่าให้เราฟังด้วยความไม่สบายใจหลังจากพบว่าชาวพม่าสามารถทำใบขับขี่สากลได้โดยไม่ต้องมีใบขับขี่สัญชาติตนเองก่อน ทำให้ชาวพม่าเหล่านี้เข้ามาขับรถรับจ้างในประเทศไทยได้ง่าย ทั้งๆ ที่ในประเทศตัวเองยังไม่มีใบขับขี่แต่อย่างใด

“ตลกไหมละครับ อย่างคนไทยเราอยากจะทำใบขับขี่สากลไปใช้ในอเมริกา ในยุโรปต้องมีใบขับขี่ของคนไทยก่อน แต่
คนพม่าอยู่ดีๆ ทำใบขับขี่สากลได้เลย แค่มีหนังสือเดินทางเข้าเมืองเท่านั้น ถ้าทำไปเพื่อขับรถส่วนตัวยังไม่เท่าไร แต่นี่ทำเพื่อไปขับรถรับจ้างโดยเฉพาะแท็กซี่ในเมืองใหญ่ๆ ตรงนี้ถ้าเขาไปชนคนตายหรือก่ออาชญากรรมกับผู้โดยสาร แค่หนีข้ามฝั่งไทยกลับไปพม่าก็จบแล้วใช่ไหม ชีวิตคนไทยราคาถูกขนาดนั้นเลยหรือ”

ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีตัวเลขแน่ชัดว่า จำนวนแท็กซี่ตลอดจนวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างและรถรับจ้างอื่นๆ มีผู้ขับขี่เป็นชาวต่างด้าวอยู่เท่าไร และแน่นอนว่าในปี พ.ศ.2558 เมื่อมีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) การเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในไทยอาจจะเพิ่มทวีคูณกว่านี้เพราะการเดินทางเข้า-ออกระหว่างชาติอาเซียนด้วยกันจะเป็นไปได้ง่ายมากขึ้นคล้ายกับการเดินทางของประชาชนในประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (EU)

ภาษา : โอกาสและความมั่นคงของชาติ

เมื่อพูดถึงประเด็นด้านโอกาสของไทยในพม่า คุณนฤมลกล่าวว่า แม้ชาวพม่าจะซื้อสินค้าส่วนใหญ่โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้า-อิเล็กทรอนิกส์จากจีน แต่สินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไปแล้วชาวพม่านิยมข้ามฝั่งมาซื้อของจากประเทศไทยมากกว่า

“ดิฉันเคยคุยกับบริษัทผลิตนมยี่ห้อหนึ่งของบ้านเรา เขาบอกส่งไปขายพม่าได้ปีละเป็นพันล้านบาท ไม่เพียงเท่านั้น คนพม่ายังฟังวิทยุไทย ดูทีวีช่องไทยผ่านจานดาวเทียม พวกเขานิยมสินค้าทั่วๆ ไปจากไทยมาก ยกเว้นสินค้าอิเล็กทรอนิกส์พวกเครื่องใช้ไฟฟ้าเพราะทุกวันนี้ระบบไฟฟ้าบ้านเขายังไม่ดีนักสินค้าไทยเราคุณภาพดีกว่าก็จริงแต่ราคาก็แพงกว่าด้วย พวกเขาจึงคิดว่าซื้อไปใช้คงไม่คุ้ม เลยซื้อของจีนที่ราคาถูกน่าจะเหมาะกว่า”

ดูเหมือนจะเป็นโอกาส เพราะนอกจากการเข้าไปลงทุนแล้วแรงงานไทยประเภทช่างฝีมือทั้งหลายได้รับคำชมจาก
ผู้ประกอบการในต่างประเทศว่ามีทักษะฝีมือแรงงานที่ดีมากจากผลงานที่ไปมาแล้วทั้งญี่ปุ่น ไต้หวัน หรือเกาหลีใต้ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนักเพราะจากผลสำรวจจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) พบว่าปัจจุบันคนไทยมีทักษะในการใช้ภาษาอังกฤษอยู่ในลำดับที่ 43 ของเอเชีย และรายงานจากสถาบัน International Institute for Management Development (IMD) องค์กรจัดอันดับศักยภาพในการแข่งขันของประเทศต่างๆ เมื่อปี พ.ศ.2554 (ค.ศ.2011)
พบว่าคนไทยมีทักษะภาษาอังกฤษอยู่อันดับที่ 5 ของอาเซียน เป็นรองทั้งสิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย

แต่ที่น่าตกใจมากกว่านั้น จากคำบอกเล่าของคนไทยที่เคยทำงานร่วมกับชาวพม่ามาเป็นเวลานาน พบว่าหากชาวพม่าที่มาทำงานในไทยนั้นมีภูมิลำเนาเดิมอยู่ในเขตเมืองใหญ่ๆ เช่น นครย่างกุ้ง (เมืองหลวงเก่าของพม่าก่อนจะย้ายเมืองหลวงมาที่เนปิดอว์ในปัจจุบัน) จะมีทักษะการใช้ภาษาอังกฤษที่คล่องแคล่วและชัดถ้อยชัดคำมากกว่าคนไทยอยู่มากทีเดียวดังนั้นแหล่งข่าวคนดังกล่าวจึงรู้สึกไม่สบายใจและเป็นห่วงคนไทยว่าหากเปิดเสรีอาเซียนแล้วเราจะไม่สามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้เพราะคนไทยยังอ่อนด้อยทักษะภาษาอังกฤษที่เป็นภาษาสากลในปัจจุบันอยู่มาก

นอกจากนี้ การที่พม่าติดต่อกับจีนมากกว่าประเทศอื่นทำให้คนพม่าจำนวนไม่น้อยใช้ภาษาจีนได้อย่างคล่องแคล่ว ซึ่งไทยก็จำเป็นต้องเร่งพัฒนาบุคลากรที่ใช้ภาษาจีนได้ดีให้ได้เช่นกันเนื่องจากปัจจุบันนี้จีนกำลังเป็นประเทศที่มาแรงมากในด้านการแข่งขันทางเศรษฐกิจ จนมีใครหลายคนคาดการณ์กันว่าภาษาจีนอาจจะกลายเป็นภาษาหลักของโลกแทนภาษาอังกฤษหากวันใดวันหนึ่งจีนสามารถแซงสหรัฐอเมริกา ขึ้นเป็นผู้นำโลกได้สำเร็จ

นั่นคือมุมมองทางเศรษฐกิจและการแข่งขัน แต่ในมุมมองของฝ่ายความมั่นคงแล้ว นายสุรชัย นิระ ที่ปรึกษาด้านการประสานกิจการความมั่นคง สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวเสริมอีกว่า ไม่เพียงแต่ภาษาอังกฤษเท่านั้น ภาษาของเพื่อนบ้านกลุ่มอาเซียนก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน เหมือนภาษิตโบราณที่ว่ารู้เขารู้เรา รบร้อยชนะร้อย ซึ่งปัจจุบันเราพบว่าคนพม่าที่เข้ามาทำงานในไทยนั้นจำนวนไม่น้อยที่รู้ภาษาไทยในระดับอ่านออกเขียนได้ ในทางกลับกันมีคนไทยน้อยมากที่รู้ภาษาพม่าในระดับเดียวกัน ทำให้นี่เป็นจุดบอดด้านความมั่นคงที่น่าเป็นห่วงมาก

“ตรงนี้มีเรื่องน่าสนใจคือนักศึกษาจากไทยไปเรียนที่อินโดนีเซีย อยู่ที่นั่นแค่ครึ่งปีใช้ภาษาของที่นั่นได้คล่องแล้ว ดังนั้นถ้าคนไทยต้องทำงานกับชาวพม่าก็น่าจะเข้าใจภาษาและวัฒนธรรมของเขา ซึ่งปัจจุบันในไทยก็มีคนพม่า มีชุมชนพม่ามากมาย คนไทยน่าจะเปิดใจให้กว้างเพื่อเรียนรู้ เพราะรู้ภาษาก็คือรู้เขารู้เรา ก็จะทำให้เกิดการสร้างความเข้าใจอันดีต่อกันด้วย” คุณสุรชัยกล่าวทิ้งท้าย

อีกไม่นานเราจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียนที่หลายๆ อย่างของชาติทั้ง 10 ในกลุ่ม จะเชื่อมโยงถึงกันอย่างไร้พรมแดน ซึ่งวันนี้หลายชาติเริ่มเตรียมตัวกันแล้วว่าจะสร้างจุดเด่นลบจุดด้อยของตนอย่างไรจึงจะมีศักยภาพในการแข่งขันได้ไม่เสียเปรียบชาติอื่น และไม่ใช่แค่อาเซียน 10 ชาติเท่านั้น มหาอำนาจทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และกลุ่มสหภาพยุโรป ก็กำลังจ้องมองการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้อยู่อย่างไม่กะพริบตา

แล้วเราคนไทย….พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้แล้วหรือยัง?

ที่มา : แนวหน้า